วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

พระอัศวโฆษ





พระภิกษุผู้มีนามอุโฆษ
มีเสียงไพเราะซึ้งใจจนม้ากินหญ้าไม่ลง
พระอัศวโฆษ

ธีร์ พุ่มทับทิม


ประวัติเริ่มต้นแห่งชีวิตปราชญ์พระอัศวโฆษ ไม่ทราบว่ามีนามเดิมว่าอะไร ประวัติบันทึกไว้เพียงว่า ท่านเกิดในวรรณะพราหมณ์ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๖ ณ เมืองสาเกตุ (หรืออโยธยาปัจจุบัน) แคว้นโกศล มารดาของท่านชื่อว่า สุวรรณเกษี ส่วนบิดาไม่ปรากฏชื่อ

วัยเด็กท่านได้ศึกษาคัมภีร์ไตรเพทจนแตกฉาน มีพรสวรรค์ด้านการใช้วาทะคมคายและมีความกล้าหาญ จึงเดินทางไปโต้วาทีกับผู้ทรงความรู้ด้านต่าง ๆ ในแคว้นมคธและอินเดียตอนกลาง ที่ท่านชอบสนทนามากที่สุด ก็คือพระภิกษุในพระพุทธศาสนา โดยหมายมั่นจะให้พระภิกษุยอมรับหลักคำสอนทางศาสนาพราหมณ์ลึกซึ้งกว่าทุกศาสนา

วันหนึ่ง พระปารศเถระ จาริกมาจากอินเดียตอนเหนือสู่แคว้นมคธ เมื่อท่านทราบเรื่องของท่านอัศวโฆษ ท่านจึงประกาศขอโต้วาทีด้วย ฝ่ายท่านอัศวโฆษถือว่าตนมีความรู้ดีจึงรับคำ และท้าท่ายว่า หากตนปราชัยจะยอมให้ตัดลิ้น เมื่อเปิดอภิปรายได้พักเดียว ผลก็คือท่านอัศวโฆษเป็นฝ่ายปราชัย แต่พระปารศวเถระไม่มีประสงค์จะให้ตัดลิ้น แต่กลับให้ไถ่โทษด้วยการบวชในพระพุทธศาสนาแทน
เมื่อบวชแล้ว พระอัศวโฆษได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ด้วยคุณสมบัติที่ท่านมีสำเนียงที่ไพเราะ จับใจผู้ที่ได้รับฟังอย่างยิ่ง ทำให้มีชื่อเสียงเลื่องลือไปถึงพระกรรณของพระเจ้ากนิษกะมหาราช เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๗ แห่งราชวงศ์กุษาณ ชาวง้วยสี
พระองค์ได้ทำศึกสงครามกับแคว้นมคธ โดยยกทัพมาล้อมกรุงปาฏลีบุตร เมื่อเจ้าเมืองกรุงปาฏลีบุตรเห็นว่าสู้ไม่ได้จึงขอเจรจาขอสงบศึก 

พระเจ้ากนิษกะมหาราชตรัสว่าให้จ่ายค่าชดเชยสงครามเป็นทอง ๓ โกฏิ แต่ทางเจ้าเมืองปาฏลีบุตรไม่สามารถหามาได้ พระองค์จึงให้เปลี่ยนเป็นของมีค่าภายในแคว้นมคธแทน นั่นคือ บาตรของพระพุทธเจ้า และพระอัศวโฆษ ซึ่งทางกรุงปาฏลีบุตรจำต้องยอมมอบให้
เมื่อพระเจ้ากนิษกะมหาราชอัญเชิญบาตรของพระพุทธเจ้า และนิมนต์พระอัศวโฆษมาสู่พระนคร เหล่าอำมาตย์ ข้าราชบริพาร พากันพูดนินทาว่า “พระภิกษุรูปเดียว ไฉนจึงมีค่ามากมายนัก” พระองค์ได้รับฟัง จึงรับสั่งให้งดอาหารม้า ๗ ตัวอยู่ ๖ วัน แล้วโปรดให้พระสงฆ์ เสนาอำมาตย์ และเหล่าทวยราษฎร์มาประชุมพร้อมกัน โดยโปรดให้นำม้าทั้ง ๗ ตัว มาอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย แล้วทรงอาราธนาพระอัศวโฆษให้แสดงธรรม

พระอัศโฆษได้ขึ้นแสดงธรรมด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะ ซึ้งใจยิ่งนัก หลังจากที่พระเถระแสดงธรรมจบลง พระเจ้ากนิษกะมหาราชทรงสั่งให้มหาดเล็กนำม้าทั้ง ๗ ตัว ไปกินหญ้า แต่ม้าไม่ยอมเดินตาม ได้แต่ยืนนิ่งฟังธรรมจนน้ำตาไหล


ด้วยเหตุนี้ กิตติศัพท์ของพระอัศวโฆษจึงดังระบือไป โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า “พระรูปนี้แสดงธรรมได้ไพเราะ ซึ้งใจยิ่งนัก แม้กระทั่งม้ายังฟังธรรมที่ท่านแสดงอย่างซาบซึ้ง น้ำตาไหล ไม่ยอมกินหญ้า” แต่ก่อนพระรูปนี้มีชื่ออะไรไม่มีปรากฏ ครั้นเมื่อกิตติศัพท์นี้ได้ขจรขจายไป จึงทำให้ท่านได้รับการขนานนามว่า “อัศวโฆษ” หมายถึง ผู้มีเสียงที่ไพเราะจนทำให้ม้าซึ้งใจน้ำตาไหล

พระอัศวโฆษได้เขียนผลงานประพันธ์อันทรงคุณค่า ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหากาพย์อยู่ ๒ เรื่ง คือ “พุทธจริต” ว่าด้วยเรื่องพรรณนาพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรม จนถึงทรงดับขันธปรินิพพาน นับเป็นจำนวนโศลกได้ ๒,๑๑๐ โศลก แต่คงเหลืออยู่ในปัจจุบันนี้เพียง ๑,๐๑๑ โศลกเท่านั้น และอีกผลงานหนึ่งคือมหากาพย์ “เสานทรนันทะ” ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับพระนันทะพระอนุชาร่วมบิดากับพระพุทธองค์ ที่มาบวชทั้ง ๆ ที่ยังตัดความรักไม่ได้ และท่านพระนันทะนี่เองที่เป็นต้นกำเนิดคำคมที่ว่า “ความรักไม่มีที่สิ้นสุด” และ “มีรักที่ไหน มีทุกข์ที่นั่น”
เชื่อกันว่า พระอัศวโฆษนี่เองเป็นผู้ประพันธ์คัมภีร์ “สูตราลังการ” ต้นฉบับภาษาสันสกฤต ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว คงเหลือแต่ฉบับคำแปลโดยท่านกุมารชีพ ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาจีนให้ได้เห็นอยู่ทุกวันนี้
ตำนานประวัติฝ่ายจีนบันทึกไว้ว่า พระอัศวโฆษลาเพศจากสมาณะมาเป็นอุบาสกอยู่ระยะหนึ่ง เพื่อแต่งผลงานด้านบทละครร้องเรื่อง “รัฐปาละ” ตามที่พระเจ้าแผ่นดินอาราธนาขอ ผลงานนี้ได้รับความชื่นชอบอย่างยิ่ง
แหล่งข้อมูล


เสถียร โพธินันทะ. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. สร้างสรรค์บุ๊ค๒๑๗ ซอยสุขุมวิท ๒๐ คลองเตย กรุงเทพ พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๔๔


สุชาติ หงษา ดร. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. สำนักพิมพ์ศยาม ๑๑๗-๑๑๙ ถนนเฟื่องนคร กรุงเทพ

พระปิยมหาราช


ประวัติศาสตร์ในอดีตคือคุณค่าแห่งปัจจุบัน
: สืบค้นรอยประพาสต้นของรัชกาลที่ ๕  ในบ้านแหลม  เพชรบุรี

ธีร์   พุ่มทับทิม

จดหมายฉบับที่ ๕


เมืองเพชรบุรี
    ณ วันที่ ๒๙ เดือนกรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓
ถึง พ่อประดิษฐ์
                จดหมายฉบับก่อนฉันส่งไปแต่เมืองสมุทรสงคราม บัดนี้ได้ตามเสด็จมาประพาสเมืองเพชรบุรีได้ ๖ วัน จะเสด็จจากเมืองเพชรบุรีพรุ่งนี้ มีเวลาว่างอยู่บ้างฉันจึงได้จดหมายฉบับนี้ส่งมาบอกข่าวคราว
วันที่ ๒๔ เวลาเช้า เสด็จลงเรือฉลอม[1] แล่นใบออกไปประพาสละมุ[2]  ที่เขาไปจับปลาตามปากอ่าวแม่กลอง มีเรือฉลอมแล่นไปในกระบวนเสด็จ ๓ ลำด้วยกัน เที่ยวหาซื้อกุ้งปลาที่เขาจับได้ตามละมุ แล้วต้มข้าวต้ม ๓ กษัตริย์ขึ้นในเรือฉลอม ที่เรียกว่าข้าวต้ม ๓ กษัตริย์นั้นคือ ต้มอย่างข้าวต้มหมู แต่ใช้ปลาทูกุ้งกับปลาหมึกแซกแทนหมู เป็นของทรงประดิษฐ์ขึ้นเช้าวันนั้นเอง ตั้งแต่ฉันเกิดมาไม่เคยกินข้าวต้มอร่อยเหมือนวันนั้นเลย เฉพาะเหมาะถูกคราวคลื่นราบลมดี เรือฉลอมแล่นใบลมฉิวราวกับเรือไฟ เสด็จพระองค์อาภา[3] เป็นกัปตันถือท้ายเรือพระที่นั่ง แล่นลิ่วออกไปจากปากน้ำแม่กลอง แต่อย่างไรแล่นไกลออกไปทุกทีๆ นานเข้าพวกเจ้าของเรือเห็นจะออกประหลาดใจแลดูตากันไปมา ท่านก็ทอดพระเนตรเห็นแต่เห็นท่านยิ้มๆกัน ฉันออกเข้าใจว่าเห็นจะแล่นใบเลยไปเมืองเพชรแน่แล้ว ดูใกล้ปากน้ำบ้านแหลมเข้าทุกที พอแล่นเข้าไปก็พบกรมหมื่นมรุพงศ์[4] ทรงเรือไฟศรีอยุธยามาคอยรับเสด็จอยู่ที่ปากน้ำ เป็นอันเข้าใจได้ว่ามีอะไรที่จะเล่นกันสักอย่างหนึ่งซึ่งท่านได้ทรงนัดแนะกันไว้แล้วเป็นแน่ ได้ยินแต่กรมหมื่นมรุพงศ์กราบทูลว่าสำเร็จสนิททีเดียว เสด็จลงเรือศรีอยุธยาแล่นขึ้นไปตามลำแม่น้ำเมืองเพชรบุรี พอจวนจะถึงเมืองรับสั่งเรียกพวกที่ไปตามเสด็จให้เข้าซ่อนตัวอยู่ในเก๋ง มีแต่กรมหมื่นมรุพงศ์ประทับอยู่หน้าเรือพระองค์เดียว ฉันแอบมองตามช่องม่าน เมื่อแล่นผ่านพลับพลาเห็นเจ้าพระยาสุรพันธ์นั่งอยู่ที่นั้น ได้ยินเสียงกรมหมื่นมรุพงศ์ร้องรับสั่งขึ้นไปแก่เจ้าพระยาสุรพันธ์ว่า "เห็นจะเสด็จถึงค่ำละเจ้าคุณ ให้เตรียมคบไฟไว้เถิด ฉันจะขึ้นไปหาเสบียงที่ตลาดสักประเดี๋ยวจะกลับลงมา" แล้วเรือศรีอยุธยาก็แล่นลอดสะพานช้างชึ้นไปจอดหน้าบ้านเจ้าพระยาสุรพันธ์ เสด็จขึ้นประทับในบ้านเจ้าพระยาสุรพันธ์ แล้วรับสั่งให้กรมหมื่นมหิศร[5] ไปตามเจ้าพระยาสุรพันธ์ ประเดี๋ยวใจเจ้าพระยาสุรพันธ์วิ่งตุบตับมาหน้านิ่วถวายคำนับ แล้วยืนถอนใจใหญ่ มีรับสั่งว่า มาตอบแทนที่เจ้าพระยาสุรพันธ์ล่วงหน้าไปรับถึงบ้านปากธ่อเมื่อเสด็จคราวก่อน เจ้าพระยาสุรพันธ์ก็ไม่เพ็ดทูลว่ากระไร พวกเราก็สิ้นเกรงใจลงนั่งหัวเราะเจ้าพระยาสุรพันธ์งอๆไปตามกัน พอลับหลังพระที่นั่งเจ้าพระยาสุรพันธ์ไพล่มาโกรธเอาพวกเราไม่เลือกหน้าว่าใคร กรมหมื่นมรุพงศ์เป็นผู้ถูกตัดพ้อต่อว่ากว่าผู้อื่น แต่ท่านยิ่งโกรธเท่าใด ก็ยิ่งทำให้พวกเราหัวเราะยิ่งขึ้นจนหายโกรธไปเอง
เสด็จประทับอยู่ที่เมืองเพชรบุรีนี้ ไม่ใคร่มีโอกาสได้เสด็จประพาสต้น เพราะไม่มีทางที่จะเล็ดลอดหลีกไปได้เหมือนแถวแม่น้ำราชบุรี และสมุทรสงคราม ความสนุกแปลกประหลาดไม่ใคร่จะมี จะเล่าระยะทางที่เสด็จให้พ่อประดิษฐ์ทราบแต่พอเป็นเลาๆคือ วันที่ ๒๕ เสด็จประพาสทางเรือข้างเหนือน้ำ วันที่ ๒๖ เสด็จทางเรือไปประพาสบางทะเล ประทับแรมที่บางทะลุคืนหนึ่งยุงชุมพอใช้ วันที่ ๒๗ เสด็จเรือฉลอมแล่นใบจากบางทะลุมาทางทะเลเข้าบ้านแหลม น้ำงวดเรือติดปากอ่าว พายุก็ตั้งมืดมาจะรออยู่ช้ากลัวจะถูกพายุ ผู้ไปตามเสด็จจึงพร้อมใจกันอาสาลงลุยเลนเข็นเรือกับพวกเจ้าของเรือ สงสารแต่นายอัษฎาวุธเข้ายอมยกให้แล้วว่าไม่ต้องลงไปก็ไม่ฟัง พอเรือพ้นตื้นเข้าปากน้ำได้ก็ถูกฝนใหญ่เปียกกันมอมแมม กลับมาถึงเมืองเพชรบุรีสักทุ่มหนึ่ง วันที่ ๒๘ เสด็จประพาสพระนครคีรี ถวายพุ่มพระสงฆ์เข้าพรรษาด้วย วันที่ ๒๙ เช้าเสด็จประพาสวัดต่างๆในเมืองเพชรบุรี บ่ายวันนี้จะออกกระบวนเรือใหญ่ล่องลงไปประทับแรมที่บ้านแหลม พรุ่งนี้จะออกจากบ้านแหลมเสด็จไปประทับแรมที่เมืองสมุทรสาคร

นายทรงอานุภาพ


<!--[if !supportLineBreakNewLine]-->
<!--[endif]-->

จดหมายฉบับที่ ๖

บ้านปากไห่
วันที่ ๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓

ถึง พ่อประดิษฐ์
พรุ่งนี้ฉันจะกลับถึงบ้านแล้ว วันนี้เขียนจดหมายเล่าเรื่องตามเสด็จให้พ่อประดิษฐ์ฟังเสียอีกฉบับ ถ้ามีเรื่องราวอะไรต่อนี้ไป จะเล่าให้ฟังเมื่อไปพบกับพ่อประดิษฐ์ในกรุงเทพฯทีเดียว
ตั้งแต่ฉันจดหมายไปถึงพ่อประดิษฐ์จากเมืองเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม บ่ายวันนั้นออกกระบวนใหญ่ล่องลงมาประทับแรมที่บ้านแหลม ทอดพระเนตรเห็นเรือเป็ดทะเลทอดอยู่ที่นั่นหลายลำ รับสั่งว่า เรือเป็ดทะเลมีประทุนน่าจะสบายดีกว่าเรือฉลอม ใครกราบทูลไม่ทราบ ว่าเรือเป็ดแล่นใบทะเลเสียดดีกว่าเรือฉลอมด้วย จึงตกลงว่าจะลองเสด็จเรือเป็ดทะเลแล่นใบจากบ้านแหลม ลงมาปากน้ำท่าจีน เพราะเมืองสมุทรสงครามและคลองสุนัขหอนก็ได้เคยเสด็จประพาสแล้ว ตระเตรียมเรือเป็ดทะเลกัน ๓ ลำ
พอเวลาเช้าก็แล่นใบออกจากปากน้ำบ้านแหลม ฉันตามเสด็จมาในเรือพระที่นั่ง ตอนเช้าคลื่นราบได้ลมดี ได้เห็นเรือเป็ดทะเลแล่นเสียดรวดเร็วดีกว่าเรือฉลอม จริงดังเขาว่า มาได้สัก ๒ชั่วโมง พอพ้นปากน้ำแม่กลองมาตรงบ้านโรงกุ้งออกๆจะมีคลื่น เรือโยนแรงขึ้นทุกทีๆมีคนที่ไปตามเสด็จด้วยกันเมาคลื่นลงหลายคน แต่ฉันมั่นใจว่าตัวเองคงไม่เมา เคยไปตามเสด็จทะเลมา ถ้าจะนับเที่ยวก็แทบจะไม่ถ้วน ไม่เคยเมาคลื่นกับใครง่ายๆ แต่อย่างไรวันนี้ออกจะสวิงสวายใจคอไม่สู้ปกติ แต่แข็งใจทำหน้าชื่นมาได้สักชั่วโมงหนึ่ง คลื่นเจ้ากรรมก็หนักขึ้นลงปลายฉันเองก็ล้มขอนกับเขาอีกคนหนึ่ง ข้าวต้มสี่กษัตริย์ห้ากษัตริย์ อะไรที่ทรงทำในวันนี้รับพระราชทานไม่ไหว ลงนอนแหมะอยู่หน้าเสาตอนศีรษะเรือ นึกน้อยใจนายมานพเห็นเพื่อนกันเมาคลื่น ชอบแต่ว่าจะหาน้ำหาข้าวมาช่วยหยอด นี่กลับกล้องมาถ่ายรูปกันเล่นเห็นเป็นสนุก แต่จะตอบแทนอย่างไรเราก็เมาคลื่นเต็มทน ต้องนิ่งนอนเฉยจนเรือแล่นใบเข้าปากน้ำท่าจีน จึงลุกโงเงขึ้นได้ หิวเหมือนไส้จะขาด เที่ยวค้นคว้าหาอะไรกิน ได้แต่ข้าวต้มซึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้เก็บรักษาไว้พระราชทานชามหนึ่ง นอกจากนั้นจะเป็นลูกหมากรากไม้อะไรไม่มีเหลือ เพราะพวกที่เขาไม่เมาคลื่นว่ากันเสียชั้นหนึ่งแล้ว เหลืออยู่เท่าใด พวกที่หายเมาคลื่นก่อนฉันช่วยกันซ้ำเสียหมด เพราะฉันออกมานอนแน่วอยู่ทางหัวเรือ ลุกไปไม่ทัน ที่ได้กินข้าวต้มชามหนึ่งก็เพราะรับสั่งให้รักษาไว้พระราชทานฉันโดยเฉพาะ ถ้าหาไม่ข้าวต้มชามนั้นก็คงจะพลอยสูญไปด้วย อย่างไรก็ตามเถิด พอเข้าแม่น้ำได้ก็นึกสาปส่งว่าขึ้นชื่อว่าเรือเป็ดทะเล ถึงจะแล่นใบเสียดดีกว่านี้อีกสักเท่าใดๆ ก็เห็นจะไม่ยอมไปเรือเป็ดทะเลอีกแล้ว ........

นายทรงอานุภาพ


                ผมได้นำจดหมายอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์  ที่พระนิพนธ์โดย  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เป็นพระเจ้าน้องยาเธอของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  หรือองค์รัชกาลที่ ๕  แห่งพระราชวงศ์จักรีของไทยเรา  โดยเนื้อความของจดหมายดังกล่าวมานั้นปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่อง  เสด็จประพาสต้น”  ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  กับพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยอย่างยิ่งเล่มหนึ่ง
                สิ่งที่ทำให้ผมเกิดความสนใจขึ้นมาก็คือ  คำว่า  บ้านแหลม  และข้อความที่ว่า  เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม (๒๔๔๗) บ่ายวันนั้นออกกระบวน(เรือ)ใหญ่ล่องลงมาประทับแรมที่บ้านแหลม  เป็นประหนึ่งให้เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า  แล้วปัจจุบันนี้สถานที่ประทับแรมเมื่อครั้งที่พระปิยมหาราชได้เสด็จมาประทับแรมที่บ้านแหลมนั้นอยู่ตรงไหน  ร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์เรื่องนี้แทบไม่เคยมีใครกล่าวถึงหรือชี้ชัดลงไปได้เลยว่า  เป็นสถานที่ตรงไหนกันแน่ 
                วันเวลาผ่านไป  ถ้านับจากปี พ.ศ. ที่พระปิยมหาราชได้เสด็จมาที่บ้านแหลม  คือ ร.ศ. ๑๒๓  เท่ากับ  พ.ศ.๒๔๔๗  เมื่อนับระยะเวลาจากปี พ.ศ. ดังกล่าวถึงปัจจุบันปี พ.ศ.๒๕๕๒  ก็เป็นเวลา  ๑๐๕  ปี  ผู้คนที่ได้ทันเห็นเหตุการณ์เมื่อครั้งที่องค์พระปิยมหาราชเสด็จมาบ้านแหลม  ก็คงล้มหายตายจากกันไปหมดแล้วเป็นแน่  แต่ก็น่าแปลกใจตรงที่ทำไมไม่มีใครได้อนุรักษ์สถานที่อันเป็นที่ประทับแรมขององค์พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของไทยเอาไว้ที่บ้านแหลมบ้าง
                ผมได้เพียรพยายามสืบค้นร่องรอยประวัติศาสตร์ตรงนี้มาตลอดเวลา  แต่ก็ไร้ร่องรอยที่ชี้ชัดให้ตรงกับประวัติศาสตร์ที่บันทึกเอาไว้ดังกล่าวมาได้  ดังนั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์แห่งประวัติศาสตร์ของบ้านแหลม  และพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ ๕  ในวันที่  ๑๒  สิงหาคม  ๒๕๕๒  ซึ่งตรงกับวันแม่แห่งชาติ  ทางวัดต้นสนโดยมีพระครูพัชรคุณาทร  ผู้เป็นเจ้าอาวาสวัด  พร้อมเหล่าศิษยานุศิษย์ได้ร่วมใจกันจัดงานเททองหล่อพระบรมรูปองค์รัชกาลที่ ๕  ขนาดสูง  ๑๘๐  ซม.  โดยมีคุณวัลลภา  ธีระสานต์  คุณกาญจนรัตน์  คุณอำนาจ  คุณจารีนี  วรานนท์  ได้บริจาคทุนทรัพย์จำนวน  ๕๐๐,๐๐๐  บาท (ห้าแสนบาท)  เพื่อเป็นค่าดำเนินงานเททองหล่อองค์พระบรมรูปพระปิยมหาราช   พร้อมกันนี้มีข้าราชการ  ทหาร  ตำรวจ  นิสิต  นักศึกษา  พ่อค้าแม่ค้า  ประชาชนทั่วไป  ได้ร่วมจิตร่วมใจกันดำเนินการเททองหล่อในครั้งนี้ด้วย  รวมสรุปค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างองค์พระบรมรูปพระปิยมหาราชนี้คิดเป็นจำนวนเงินกว่า  ๘๐๐,๐๐๐  บาท  (แปดแสนบาท)   และได้ประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ในวันที่  ๒๓  ตุลาคม ๒๕๕๒  โดยมี  ม.ร.ว.สุขุมพันธ์  บริพัตร์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ผู้มีฐานันดรศักดิ์เป็นเหลนในองค์พระปิยมหาราช  ให้เกียรติมาเป็นประธานทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์รัชกาลที่ ๕  ณ วัดต้นสน  บ้านแหลม  เพชรบุรี  ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์แห่งดินแดนบ้านแหลม  และเป็นอนุสรณ์สถานน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระบารมีแห่งองค์พระพุทธเจ้าหลวงสืบต่อไป
                หลังจากวันที่  ๒๓  ตุลาคม  ๒๕๕๒  ผ่านไปได้    เดือน  คุณทิฆัมพร  ตันติวิญญูพงศ์  ได้มาบอกให้ทราบเป็นนัยว่า  มีผู้เล่าว่ามีสถานที่เป็นหลักฐานเมื่อครั้นที่รัชกาลที่ ๕  ได้เคยเสด็จมาประทับ  ถ้าสนใจจะอาสาพาไปดูสถานที่ดังกล่าว  ผมตอบตกลงทันที  ดังนั้นในวันที่  ๒๓  พฤศจิกายน  ๒๕๕๒  เวลาประมาณ    โมงเช้า  คุณทิฆัมพรขับรถมารับผมแล้วก็เดินทางกันไปดูสถานที่มีผู้เล่ากันไว้ดังกล่าว  ซึ่งเส้นทางที่จะไปนั้นก็คืออยู่ในหมู่ที่ ๑๐  ของบ้านแหลม  ผ่านวิหารหลวงพ่อสัมฤทธิ์  ผ่านศาลเจ้าฮุดโจ๊วเข้าไปทางซ้ายมือ  ผ่านคุ้งตาไป่  ซึ่งฝั่งตรงข้ามลำคลองจะเป็นแหลมตาชื่น  วิ่งรถมาก็ลึกพอสมควร
เส้นทางที่ไปเป็นถนนแคบ ๆ  เทคอนกรีตใหม่   ความกว้างขนาดรถมอเตอร์ไซค์พอวิ่งผ่านสวนทางกันได้  สถานที่เข้าใจกันว่าพระพุทธเจ้าหลวงเคยมาประทับแรมนั้นอยู่ใกล้กับอู่ต่อเรือของโกหน่าย  คุณทิฆัมพรได้ชี้ให้เห็นถึงสิ่งก่อสร้างที่ดูรูปร่างเหมือนศาลเจ้าอะไรสักอย่างหนึ่ง  แล้วบอกว่านี่แหละคือสถานที่เข้าใจว่าเป็นที่ประทับแรม 
ผมได้ถ่ายภาพลงมาให้เห็นเป็นหลักฐาน  เพื่อท่านผู้อ่านจะได้มองเห็นภาพเดียวกันกับที่ผมไปเห็นมา  มีลักษณะเป็นสิ่งก่อสร้างใหม่  สร้างครอบหรือล้อมอะไรไว้สักอย่างหนึ่ง

                ครั้นเข้าไปดูภายในก็จะมองเห็นต้นโพธิ์ยืนตายต้นนานแล้วอยู่    ต้น  มีโต๊ะหมู่เล็ก ๆ    ชุด  โดยมีพระบรมรูป ร.๕  หล่อด้วยปูนขาวทารักสีดำขนาด  ๙ นิ้ว    องค์  และมีเก้าอี้ไม้สำหรับนั่ง    ตัว  ซึ่งทุกอย่างที่ปรากฏให้เห็นนั้น  ล้วนแต่เป็นของใหม่ในยุคนี้ทั้งหมด  ทำให้ผมสรุปว่า  ภายในสิ่งก่อสร้างที่เหมือนศาลเจ้านี้ไม่มีหลักฐานอะไรยืนยันได้เลยว่า  เคยเป็นที่ประทับแรมของรัชกาลที่ ๕ 
                เมื่อหาหลักฐานทางวัตถุสิ่งของไม่ได้  ก็ต้องหาหลักฐานทางกายภาพหรือสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์  ต้องถือว่าเป็นบุญของผมอย่างหนึ่งที่ได้เดินทางมายังสถานที่แห่งนี้  ทำให้ได้พบเพื่อนเก่าสมัยที่เรียนหนังสือชั้นประถมด้วยกันที่โรงเรียนวัดลักษณาราม  นั่นคือได้พบกับคุณอุปถัมภ์  ฐิติไพศาลธนวงศ์  หลังจากต้องพลัดพรากกันไปนานร่วม  ๓๐  กว่าปี  แต่เค้าหน้าของเขายังคงมีส่วนเดิมอยู่จนทำให้ผมจำเขาได้  หลังจากได้ทักทายกันเป็นที่เรียบร้อย  ก็ได้สอบถามถึงสถานที่ประทับแรมของ ร.๕  ซึ่งอุปถัมภ์ก็ยอมรับว่า  ไม่เคยรู้มาก่อนเลย  ทั้ง ๆ  ที่บ้านของเขาก็อยู่ตรงนี้  เพื่อให้ได้ความย้อนหลังครั้งอดีต  เขาเลยไปตามคุณพ่อคุณแม่มาให้ผมสัมภาษณ์  ซึ่งพอเห็นหน้าผมก็จำได้ว่าเป็นคุณน้าย่อม  ญาติกับน้าเยาว์ซึ่งเป็นน้าสะใภ้ผมนั่นเอง  คุณน้าย่อมมาพร้อมกับคุณน้าไพรัญ  ท่านเล่าว่าอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เด็ก  จนถึงขณะนี้  คุณน้าย่อมอายุได้  ๗๖  ปี  คุณน้าไพรัญอายุ  ๗๑  ปี  แถมยังมีคุณตาอ้น  บุญมี  อายุ  ๘๐  ปี  เพื่อนบ้านแถวนั้นได้เข้ามาร่วมพูดคุยอดีตย้อนหลังให้ฟังอีกด้วย 
                จากการพูดคุยเชิงสัมภาษณ์เล่าเรื่องเก่าย้อนหลัง  ทำให้ได้ข้อมูลที่น่าพินิจมากทีเดียว  ท่านผู้ใหญ่    ท่านดังกล่าว  ได้เล่าว่า  พ่อแม่และคนรุ่นเก่าเล่าให้ฟังอีกทีหนึ่งว่า  ลำคลองแม่น้ำบ้านแหลมแต่ก่อนกว้างใหญ่กว่าทุกวันนี้มาก  สถานที่ตรงที่สร้างศาลครอบต้นโพธิ์ที่ยืนตายต้นนั้น  แต่ก่อนเคยเป็นศาลาริมน้ำ  เป็นศาลาขนาดใหญ่สำหรับนั่งพักของพ่อค้าแม่ค้าและผู้คนที่สัญจรผ่านทางแม่น้ำบ้านแหลม  คุณตาอ้นยืนยันว่า  เมื่อสมัยเด็ก ๆ  ยังมองเห็นต้นโพธิ์และต้นแสมใหญ่ยืนอยู่คู่กัน  ยังมีต้นเสาที่เคยเป็นศาลาหลังเดิมอยู่หลายต้น  มองเห็นเป็นรูปโครงของศาลาที่พักอาศัยได้ทันที  แต่ไม่รู้ว่ามีการรื้นถอนเสาไปเมื่อไร  ทุกวันนี้ก็มีเหลือเสาอยู่ต้นเดียวเท่าที่มองเห็น
                ผมได้พิเคราะห์ดูอายุความเก่าของเสาต้นที่ว่า  มีอายุนับเป็น  ๑๐๐  ปีจริงทีเดียว  ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าทึ่งในความรู้สึกผมมาก  และที่ทำให้ผมแทบจะปลงใจเชื่อได้ว่าที่นี่คือที่ประทับแรมขององค์รัชกาลที่ ๕  นั่นคือท่านผู้สูงวัย    ท่านนั้นกล่าวตรงกันว่า  ผืนดินตรงนี้เมื่อเจ้าของที่ดินเดิมทราบว่ามีพระมหากษัตริย์มาประทับแรม  จึงได้ยกถวายที่นี้ให้เป็นของหลวง  โดยอยู่ภายใต้การดูแลของราชพัสดุ  ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน    เมื่อได้สอบถามเจ้าของบ้านที่ปลูกในพื้นที่ของหลวงก็กล่าวว่า  เป็นที่ต้องเช่าหลวงและจ่ายค่าเช่าให้กับกองราชพัสดุ  ซึ่งที่น่าพินิจเป็นอย่างมากก็ตรงที่  พื้นดินแถบบริเวณนี้มีตรงนี้ที่เดียวที่เป็นของหลวง  นอกจากนั้นก็เป็นที่จับจองของชาวบ้านราษฎรทั่วไป
                หลังจากได้พูดคุยเชิงสัมภาษณ์กันพอสมควร  ก็เป็นอันสรุปได้ความว่า  มีความน่าจะเป็นไปได้  เรื่องสถานที่ครั้งสมัยองค์พระปิยมหาราชได้เคยเสด็จมาประทับแรมที่บ้านแหลม  ตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุพระนิพนธ์เรื่อง เสด็จประพาสต้น”  ดังที่ผมได้นำเนื้อความจดหมายฉบับที่ ๕  และที่ ๖  ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้  โดยใช้นามปากกาว่า  นายทรงอานุภาพ”  ด้วยระยะเวลาที่ผ่านไป  แม้จะไม่ปรากฏมีหลักฐานที่ยืนยันในเรื่องวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ขององค์รัชกาลที่ ๕ ได้เลย  แต่ก็มีสถานที่ทางภูมิศาสตร์ที่เป็นหลักฐานได้อย่างหนึ่งว่า  สถานที่ตรงนี้เคยเป็นศาลาริมน้ำหลังใหญ่  ใช้เป็นที่พักของผู้คนที่สัญจรทางเรือ  และพื้นแผ่นดินตรงนี้ทางเจ้าของที่ดินเดิมได้ยกให้เป็นของหลวง  โดยให้เหตุผลว่าเพราะมีพระมหา กษัตริย์ได้มาประทับพักที่ตรงนี้  หลักฐานคำบอกเล่าดังกล่าวมานั้นแม้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์ทราบได้ในขณะนี้  แต่ถ้าได้มีการสืบค้นถึงวันเวลาที่เจ้าของที่ดินได้ยกให้กับหลวง  ว่าเป็นวันเดือนปีใด  มีความใกล้เคียงกับ พ.ศ.๒๔๔๗  หรือไม่ประการใด  เมื่อได้ข้อมูลตรงนี้มาเทียบเคียงกับร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในพระนิพนธ์ เสด็จประพาสต้น”  ก็อาจทำให้การสืบค้นสถานที่ประทับแรมขององค์พระพุทธเจ้าหลวงในดินแดนบ้านแหลมดูจะอยู่อีกไม่ไกลแน่นอน
                แม้ว่าขณะนี้เราจะยังไม่ทราบสถานที่ประทับแรมของรัชกาลที่ ๕  ที่ชัดเจน  แต่ชาวบ้านแหลมก็ควรจะภาคภูมิใจได้อย่างหนึ่งว่า  ได้ปรากกฎร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกด้วยลายลักษณ์อักษรยืนยันไว้ชัดเจนว่า   เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม (๒๔๔๗)  บ่ายวันนั้นออกกระบวน(เรือ) ใหญ่ล่องลงมาประทับแรมที่บ้านแหลม  จึงเป็นเหตุผลประการสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้มีการสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕  เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่รำลึกถึงและเคารพเทิดทูนในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อประเทศไทย  ทำให้ไทยเราได้คงความเป็นเอกราช  และมีความเจริญรุ่งเรืองเทียมเท่านานาอารยประเทศตราบถึงทุกวันนี้  นั่นคือผลจากจุดเริ่มต้นที่องค์พระปิยมหาราชได้ทรงวางแนวทางไว้ให้เราชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างไม่มีวันลืมเลือน.


<!--[if !supportFootnotes]-->

<!--[endif]-->
<!--[if !supportFootnotes]-->[1]<!--[endif]--> "ฉลอม" เป็นชื่อประเภทของเรือนี่เอง ท่าฉลอมก็หมายถึงท่าที่มีเรือประเภทหนึ่งชื่อว่าเรือฉลอมอยู่มาก
<!--[if !supportFootnotes]-->[2]<!--[endif]--> ละมุ คือ โป๊ะเล็กๆ ที่ทำไว้สำหรับจับปลาตามชายฝั่งทะเล ห่างฝั่งออกไปไม่มากนัก
<!--[if !supportFootnotes]-->[3]<!--[endif]--> พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๕ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
<!--[if !supportFootnotes]-->[4]<!--[endif]--> พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ กรมขุนมรุพงษศิริพัฒน์

<!--[if !supportFootnotes]-->[5]<!--[endif]-->  พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔   พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คนเพชรเข็ดรัก


คนเพชรฯ  เข็ดรัก  (ชาย)

A 1   คนเพชรฯ เข็ดแล้ว  เข็ดแล้ว  ความรัก
มอบใจให้คนรู้จัก  แต่อกหักเพราะเจอรักลวง
สัญญาร่วมกัน  น้องนั้นบอกว่าอย่าห่วง
ไม่มีใครจะมาเดินควง  ทุกสิ่งหวงให้พี่คนเดียว
A 2          คนเพชรฯ  เจ็บช้ำ  เจ็บช้ำ  ใจนัก
แม้เจอก็จะห้ามหัก  จะไม่ทัก ไม่ขอแลเหลียว
เจ็บรักครั้งนี้  ชีวิตช้ำจริงแท้เชียว
สุดเหว่ว้าดั่งตาลต้นเดียว  เหลียวหาตาลด้วยกันไม่มี
H     เพียงไม่นานวัน  รักกันยังไม่สุกงอม
ดอกไม้อื่นเขายื่นกลิ่นหอม  น้องก็พร้อมยอมจากแล้วนี่
เขารวยเขาทุ่ม  เขามีรถนุ่มอย่างดี
รักที่ถักจึงหักป่นปี้  เหลือเศษธุลีที่มีแต่ช้ำ
A 3          คนเพชรฯ  เข็ดแล้ว  เข็ดแล้ว  ความรัก
เหมือนคนหกล้มเสียหลัก  สุดช้ำนักเพราะรักมีกรรม
หยุดพักกันที  อกหักครั้งนี้ขอจำ
คนเพชรฯ เข็ดรักที่มักเจ็บช้ำ  ขอทำใจไม่รักใครอีกเลย  ฯ

วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คำว่าแม่ ตอนที่ ๔ (ตอนจบ)


 แม่เฒ่า น. หมายถึง   คำสุภาพเรียกหญิงชรา,  ภาคอีสานใช้เรียก  แม่ของเมีย
 แม่เฒ่าน้อย น. หมายถึง   พี่สาวแม่ของเมีย  (ใช้ในภาคอีสาน)
 แม่ดำ น. หมายถึง   เป็นคำเพี้ยนมาจาก  มาดาม  แม่ชีอาวุดสของคริสต์ศาสนา
 แม่แดง น. หมายถึง   เรียกเด็กหญิง  หรือ  หญิงสาว  ที่อ้อนออเซาะอย่างเด็กเล็ก ๆ ว่า  แม่แดง,  บางถิ่นใช้เรียกลูกหญิงก็มี
 แม่ตะงาว น. หมายถึง   งูพิษชนิดหนึ่ง
 แม่ตัว น. หมายถึง   หญิงผู้ให้กำเนิดที่แท้จริงของตัว
 แม่ทองดำ น. หมายถึง   ฝิ่น  (เป็นคำแสลงที่นักเลงฝิ่นใช้เรียกกัน)
 แม่ทูนหัว น. หมายถึง   หญิงที่รับอุปถัมภ์เด็กที่เข้าพิธีรดน้ำมนตร์ตั้งชื่อ ตามพิธีแบ๊ปติสม์ของคริสต์ศาสนา  (god-mother),  แม่อุปถัมภ์  ก็เรียก
 
แม่นาง เป็นคำสรรพนาม  หมายถึง  คำสรรพนามที่ ๒  พูดกับคู่สนทนาที่เป็นหญิงอย่างสุภาพ
 แม่บังเกิดเกล้า น. หมายถึง แม่ผู้ให้กำเนิดลูก,  บางทีใช้เป็นคำสัพยอกเรียกหญิงก๋ากั่น
 แม่ปลวก น. หมายถึง  ปลวกตัวเมียที่เรียกว่า ควีน  ตัวขนาดหัวแม่มือ  ตัวยาวราวนิ้วครึ่ง มีหน้าที่ผสมพันธุ์และออกไข่
 แม่ผัว น. หมายถึง   แม่ของผัว
 แม่พระ น. หมายถึง   หญิงที่มีคุณงามความดีมีเมตตากรุณา,  นักบุญหญิงแห่งคริสต์ศาสนา
 แม่พระธรณี  น. หมายถึง   เทวดาผู้หญิงที่สถิตอยู่ภาคพื้นดินหรือที่ประตู
 แม่โพสพ น. หมายถึง   เทพธิดาประจำข้าว
 แม่ม่ายผัวเผลอ น. หมายถึง   หญิงที่แสดงตัวเป็นม่ายเมื่อออกนอกบ้าน  หรือเวลาผัวไม่อยู่  มักหมายถึง หญิงที่ชอบนอกใจผัว
 แม่ม่ายลองไน น. หมายถึง   ชื่อจักจั่นตัวเล็ก สีค่อนข้างดำพวกหนึ่ง,  บางทีเรียกสั้น ๆ ว่า  แม่ม่าย หรือ ลองไน ก็มี
 แม่ไม้มวยไทย น. หมายถึง   ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของคนไทย  มีชื่อกำหนดท่าหลายชื่อ
 แม่ยก น. หมายถึง หญิงที่ให้ความสนับสนุนอุปถัมภ์นักแสดงต่าง ๆ  เช่น  ลิเก  นักร้อง ฯลฯ
 แม่ศรี น. หมายถึง   ประเพณีอย่างหนึ่ง  เรียกผีมาเข้า  ผู้ถูกผีเข้าจะรำอย่างอ่อนช้อย  ผู้เข้าใช้ผู้หญิง
 
แม่ศรีเรือน น. หมายถึง   ยอดหญิง  ที่เป็นสิริแก่บ้าน,  หญิงที่มีคุณงามความดีสมกับที่จะเป็นแม่เรือน
 แม่เสือ น. หมายถึง   เสือตัวเมียที่มีลูก,  ปริยายหมายถึง  หญิงที่ดุร้ายก๋ากั่น
 แม่หนู น. หมายถึง   ผู้ใหญ่เรียกเด็กหญิงเล็ก ๆ หรือผู้หญิงที่อ่อนอาวุโสกว่า แม่หนู
 แม่หวัด น. หมายถึง   จำพวกกุ้งหัวแข็ง
 แม่ใหญ่ น. หมายถึง   ลูกสาวคนโต, บางถิ่นใช้เรียก  ยาย  หรือ  ย่า  ว่า  แม่ใหญ่
 แม่อธิการ น. หมายถึง   แม่ชีแห่งคริสต์ศาสนา  ผู้เป็นหัวหน้าสำนัก
 แม่อีแดง น. หมายถึง   คำที่ชาวบ้านสมัยก่อนเรียกเมียของตน,  แม่อีหนู  ก็เรียก
 แม่ไอ้แดง น. หมายถึง   คำที่ชาวบ้านสมัยก่อนเรียกเมียของตน,  แม่ไอ้หนู  ก็เรียก
 คำว่า  แม่  นั้น  โดยเนื้อแท้ของความหมายบ่งบอกถึง  ความเป็นใหญ่,  ความกว้างขวาง,  ความแผ่ไพศาล,  
 
ความเป็นผู้นำ  และความหมายของคำว่า  แม่  ก็จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อนำไปผสมกับคำอื่น ๆ  ที่ผู้พูดต้องการเน้นย้ำถึงความสำคัญ
  ของคำนั้น ๆ  ดังเช่นลูกคำของคำว่าแม่  ดังได้เสนอมาแล้ว
 อย่างไรก็ตาม  ความหมายหลักของคำว่า แม่ ก็คือหญิงผู้ให้กำเนิดลูกหรือหญิงผู้ให้ชีวิตลูก หญิงผู้ปกป้องคุ้มครองและดูแลรักษาลูก 
   สังคมไทยแต่เดิมยกย่องและให้เกียรติหญิงเพศผู้เป็นแม่ ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่และบุญคุณของแม่ต่อชีวิตของลูก ๆ 
  ตลอดมาทุกยุคทุกสมัยอานุภาพของคำว่า  แม่  สามารถซึมซาบเข้าสู่ความรู้สึกและอารมณ์ที่อ่อนโยนของคนไทยได้ตลอดเวลาและแทบทุกกรณี  
  อย่างเช่นการนำความหมายเกี่ยวกับแม่มาประพันธ์และขับร้องเป็นบทเพลงแนวต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นแนวลูกกรุง  ลูกทุ่ง  เพื่อชีวิต  แนวเพลงสมัยใหม่ในปัจจุบัน
    หรือแม้แต่บทเพลงกล่อมลูก   หรือจะนำมาเขียนบรรยายความรู้สึกรัก  เคารพ เทิดทูน  เป็นบทกลอน  นิยายเรื่องสั้น  นิยายเรื่องยาว  นิทาน  
  หรือนำมาแสดงเป็นละคร  ภาพยนตร์  เมื่อได้อ่าน  ได้ดู  ได้ฟังครั้งใด  ความรู้สึกของผู้รับอ่าน  รับดู  รับฟัง  ก็ซาบซึ้งตรึงใจพร้อมกับนึกถึงแม่ของตัวเองทุกครั้ง
 นี่คือคุณค่าแห่งภาษาไทยอย่างอัศจรรย์ภาษาหนึ่งในโลก  นับเป็นความน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างสูงยิ่งที่เราคนไทย
  ได้มีภาษาไทยที่มีคุณค่าและงดงามทั้งน้ำเสียงและความหมายไว้ใช้เป็นภาษาประจำชาติของเรา
   ดังนั้น  ควรที่เราคนไทยทุกคนได้ร่วมใจกันรักษ์ภาษาไทยของเราไว้ให้คงอยู่คู่โลกมนุษย์นี้  ตราบสิ้นกาลแห่งอายุขัยของโลก  มิใช่ฤา

คำว่าแม่ ตอนที่ ๓


 



 


ที่กล่าวมาเป็นความหมายของแม่คำ  ส่วนลูกคำของคำว่า แม่  ท่านเก็บไว้ดังนี้

 แม่กระชังหน้าใหญ่  (ส.)  น.  (เป็นคำสำนวน ใช้เป็นคำนาม)  หมายถึง  ผู้ที่ชอบแสดงตัวออกหน้าเป็นหัวเรือใหญ่,  
  มักพูดเข้าคู่กับ  แม่หญิงแม่หญัง  เป็น  แม่หญิงแม่หญัง  แม่กระชังหน้าใหญ่
แม่กระแชง น. หมายถึง ปลาสลิดแห้งชนิดใหญ่
แม่กอง น. หมายวถึง ผู้เป็นนายกอง
แม่กุญแจ น. หมายถึง   ลูกกุญแจที่ไขตัวกุญแจชนิดเดียวกันได้ทั่วไป
แม่คุณ น. หมายถึง  คำพูดเอาใจหญิง
แม่คู่ น. หมายถึง   นักสวดผู้ขึ้นต้นบท
แม่งาน น. หมายถึง   ผู้จัดงาน
แม่เจ้า น. หมายถึง   คำเรียกเมียพ่อเมืองหรือเจ้าผู้ครองนคร
แม่เจ้าโว้ย  อุ.  (คำอุทาน) หมายถึง   คำที่เปล่งออกมาแสดงความประหลาดใจ
แม่ซื้อ น. หมายถึง   เทวดาหรือผีที่ประจำทารก,  แม่วี  ก็เรียก
แม่เตาไฟ น. หมายถึง   ไม้สี่เหลี่ยมที่เป็นกรอบกรุดินสำหรับตั้งเตาไฟ
แม่ทัพ น. หมายถึง   นายทัพ
แม่ท่า น. หมายถึง   แม่บท
แม่นม น. หมายถึง   หญิงที่ให้นมเด็กกินแทนแม่,  เรียกสั้น ๆ ว่า  นม
แม่น้ำ น. หมายถึง   ลำน้ำใหญ่ซึ่งเป็นที่รวมของลำธารทั้งปวง
แม่บท น. หมายถึง   หัวข้อใหญ่,  ท่าที่เป็นหลักของการรำ,  แม่ท่า  ก็เรียก
แม่บ้าน น. หมายถึง   หญิงผู้จัดการงานในบ้านเป็นต้น
แม่เบี้ย น. หมายถึง   พังพานงู
แม่ปะ น. หมายถึง   ชื่อเรือชนิดหนึ่งรูปคล้ายเรือชะล่า  แต่ใหญ่กว่า  มีประทุนอยู่กลาง  หัวและท้ายเสมอกัน  มีใช้อยู่ตามแถบภาคเหนือ
แม่แปรก น. หมายถึง   ช้างพังที่เป็นหัวหน้าโขลง ; หญิงสาวที่จัดจ้านซึ่งเป็นหัวหน้าของหญิงสาวในหมู่
แม่พิมพ์ น. หมายถึง   สิ่งที่เป็นต้นแบบ,  โดยปริยายหมายถึงคนที่เป็นแบบอย่าง
แม่มด น. หมายถึง   หญิงหมอผี,  หญิงที่ใช้อำนาจทำอะไรได้ผิดธรรมดาโดยอาศัยผีช่วย
 แม่ม่าย น. หมายถึง   หญิงที่มีผัวแล้ว  แต่ผัวตายหรือหย่าร้างกันไป
 แม่ม่ายทรงเครื่อง  น. หมายถึง   แม่ม่ายที่มั่งมี
 แม่ยั่วเมือง น. หมายถึง   คำเรียกพระสนมเอกครั้งโบราณ,  เขียนว่า  หยั่วเมือง หรือ อยั่วเมือง ก็มี
 แม่ย่านาง น. หมายถึง   ผีผู้หญิงประจำรักษาเรือ
 แม่ยาย น. หมายถึง   แม่ของเมีย
 แม่ย้าว น. หมายถึง   แม่เรือน  
 แม่ร้า น. หมายถึง   เรียกหญิงจัดจ้านว่า  แม่ร้า
 แม่ร้าง น. หมายถึง   หญิงที่เลิกกับผัว,  บางทีก็เรียกว่า  แม่ม่ายผัวร้าง
 แม่รีแม่แรด น. หมายถึง   ทำเจ้าหน้าเจ้าตา
 แม่เรือน น. หมายถึง   หญิงผู้ปกครองเรือน,  แม่เจ้าเรือน  ก็ว่า
 แม่แรง น. หมายถึง  เครื่องสำหรับดีดงัดหรือยกของหนัก,  โดยปริยายหมายถึงคนที่เป็นกำลังสำคัญในการงาน
 แม่ลาย น. หมายถึง   ลายตอนที่เป็นประธานมีซ้ำ ๆ  กันเป็นแถวไป
 แม่เล้า น. หมายถึง   ผู้หญิงผู้เป็นหัวหน้าเลี้ยงหญิงสาวไว้บำเรอชาย  (เป็นคำปาก)
 แม่เลี้ยง น. หมายถึง   เมียของพ่อที่ไม่ใช่แม่ตัว
 แม่วี น. หมายถึง   คอกจับช้างขนาดเล็ก,  แม่ซื้อ ก็ว่า
 แม่สายบัวแต่งตัวค้าง  (ส.)  น. หมายถึง   ผู้หญิงที่แต่งตัวคอยผู้มารับออกนอกบ้าน  แต่เขาไม่มาตามนัด  
 แม่สำเภา น.  หมายถึง   คำที่ผู้ใหญ่เรียกหญิงทั่วไปอย่างสุภาพ
 แม่สี น. หมายถึง   กลุ่มสีซึ่งสามารถผสมออกมาเป็นสีอื่น ๆ  ได้ทุกสี
 แม่สื่อ น. หมายถึง   ผู้ชักนำให้หญิงกับชายติดต่อรักกันในเชิงชู้สาว,  บางทีเรียกว่า  แม่สื่อแม่ชัก
 แม่หนัก น. หมายถึง   แม่แปรก  (ใช้เป็นคำราชาศัพท์)
 แม่เหย้าแม่เรือน น. หมายถึง   หญิงผู้ปกครองบ้านเรือน
 แม่เหล็ก น. หมายถึง   แร่หรือโลหะที่มีสมบัติดูดสารแม่เหล็กได้
 แม่อยู่หัว น. หมายถึง   คำเรียกพระมเหสี
 
ยังมีลูกคำของคำว่า  แม่  อีกหลายคำที่ไม่ปรากฏมีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ถึงบางคำจะมีเก็บไว้  แต่ท่านก็ไม่ได้ให้ความหมายของคำนั้น ๆ  ไว้อย่างชัดเจน   แต่ปรากฏมีใช้ในหนังสืออื่น ๆ  ดังเช่น
 แม่กระได น. หมายถึง   แผ่นไม้หนาสองแผ่นที่ตั้งคู่ขนานยึดปลายลูกกระได
 แม่กลอน น. หมายถึง   ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง  จำพวกต้นกะด้าง
 แม่กองธรรม น. หมายถึง   สงฆ์ผู้เป็นหัวหน้าในการคุมสอบนักธรรม
 แม่กองบาลี น. หมายถึง   สงฆ์ผู้เป็นหัวหน้าในการคุมสอบบาลี
 แม่แก่ น. หมายถึง   เรียกเด็กหญิงหรือหญิงสาวที่ชอบบ่นจุกจิกว่า  แม่แก่,  บางถิ่นเรียก  ย่า  หรือ  ยาย  ว่า  แม่แก่
 แม่ครัว น. หมายถึง   หญิงผู้ปรุงอาหารในครัว
 แม่ค้า น. หมายถึง   หญิงผู้ค้าขาย,  แม่ค้าแม่ขาย  ก็ว่า
 แม่คุณ น. หมายถึง   หญิงที่เป็นแม่ของแม่  เรียกกันว่า  ยาย  แต่บางท้องถิ่นเรียกว่า  แม่คุณ
 แม่คุณแม่ทูลหัว น. หมายถึง   เป็นคำพูดเอาใจหญิงอันเป็นที่รัก
 แม่เชื้อ น. หมายถึง   แม่บังเกิดเกล้า
 แม่ซื้อ น. ในพจนานุกรมก็เก็บไว้  แต่ในนี้ขออธิบายเพิ่มเติมว่า  แม่ซื้อ  ประจำคนเกิดวันอาทิตย์  ชื่อ  วิจิตร์นาวัน,