วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

พระอัศวโฆษ





พระภิกษุผู้มีนามอุโฆษ
มีเสียงไพเราะซึ้งใจจนม้ากินหญ้าไม่ลง
พระอัศวโฆษ

ธีร์ พุ่มทับทิม


ประวัติเริ่มต้นแห่งชีวิตปราชญ์พระอัศวโฆษ ไม่ทราบว่ามีนามเดิมว่าอะไร ประวัติบันทึกไว้เพียงว่า ท่านเกิดในวรรณะพราหมณ์ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๖ ณ เมืองสาเกตุ (หรืออโยธยาปัจจุบัน) แคว้นโกศล มารดาของท่านชื่อว่า สุวรรณเกษี ส่วนบิดาไม่ปรากฏชื่อ

วัยเด็กท่านได้ศึกษาคัมภีร์ไตรเพทจนแตกฉาน มีพรสวรรค์ด้านการใช้วาทะคมคายและมีความกล้าหาญ จึงเดินทางไปโต้วาทีกับผู้ทรงความรู้ด้านต่าง ๆ ในแคว้นมคธและอินเดียตอนกลาง ที่ท่านชอบสนทนามากที่สุด ก็คือพระภิกษุในพระพุทธศาสนา โดยหมายมั่นจะให้พระภิกษุยอมรับหลักคำสอนทางศาสนาพราหมณ์ลึกซึ้งกว่าทุกศาสนา

วันหนึ่ง พระปารศเถระ จาริกมาจากอินเดียตอนเหนือสู่แคว้นมคธ เมื่อท่านทราบเรื่องของท่านอัศวโฆษ ท่านจึงประกาศขอโต้วาทีด้วย ฝ่ายท่านอัศวโฆษถือว่าตนมีความรู้ดีจึงรับคำ และท้าท่ายว่า หากตนปราชัยจะยอมให้ตัดลิ้น เมื่อเปิดอภิปรายได้พักเดียว ผลก็คือท่านอัศวโฆษเป็นฝ่ายปราชัย แต่พระปารศวเถระไม่มีประสงค์จะให้ตัดลิ้น แต่กลับให้ไถ่โทษด้วยการบวชในพระพุทธศาสนาแทน
เมื่อบวชแล้ว พระอัศวโฆษได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ด้วยคุณสมบัติที่ท่านมีสำเนียงที่ไพเราะ จับใจผู้ที่ได้รับฟังอย่างยิ่ง ทำให้มีชื่อเสียงเลื่องลือไปถึงพระกรรณของพระเจ้ากนิษกะมหาราช เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๗ แห่งราชวงศ์กุษาณ ชาวง้วยสี
พระองค์ได้ทำศึกสงครามกับแคว้นมคธ โดยยกทัพมาล้อมกรุงปาฏลีบุตร เมื่อเจ้าเมืองกรุงปาฏลีบุตรเห็นว่าสู้ไม่ได้จึงขอเจรจาขอสงบศึก 

พระเจ้ากนิษกะมหาราชตรัสว่าให้จ่ายค่าชดเชยสงครามเป็นทอง ๓ โกฏิ แต่ทางเจ้าเมืองปาฏลีบุตรไม่สามารถหามาได้ พระองค์จึงให้เปลี่ยนเป็นของมีค่าภายในแคว้นมคธแทน นั่นคือ บาตรของพระพุทธเจ้า และพระอัศวโฆษ ซึ่งทางกรุงปาฏลีบุตรจำต้องยอมมอบให้
เมื่อพระเจ้ากนิษกะมหาราชอัญเชิญบาตรของพระพุทธเจ้า และนิมนต์พระอัศวโฆษมาสู่พระนคร เหล่าอำมาตย์ ข้าราชบริพาร พากันพูดนินทาว่า “พระภิกษุรูปเดียว ไฉนจึงมีค่ามากมายนัก” พระองค์ได้รับฟัง จึงรับสั่งให้งดอาหารม้า ๗ ตัวอยู่ ๖ วัน แล้วโปรดให้พระสงฆ์ เสนาอำมาตย์ และเหล่าทวยราษฎร์มาประชุมพร้อมกัน โดยโปรดให้นำม้าทั้ง ๗ ตัว มาอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย แล้วทรงอาราธนาพระอัศวโฆษให้แสดงธรรม

พระอัศโฆษได้ขึ้นแสดงธรรมด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะ ซึ้งใจยิ่งนัก หลังจากที่พระเถระแสดงธรรมจบลง พระเจ้ากนิษกะมหาราชทรงสั่งให้มหาดเล็กนำม้าทั้ง ๗ ตัว ไปกินหญ้า แต่ม้าไม่ยอมเดินตาม ได้แต่ยืนนิ่งฟังธรรมจนน้ำตาไหล


ด้วยเหตุนี้ กิตติศัพท์ของพระอัศวโฆษจึงดังระบือไป โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า “พระรูปนี้แสดงธรรมได้ไพเราะ ซึ้งใจยิ่งนัก แม้กระทั่งม้ายังฟังธรรมที่ท่านแสดงอย่างซาบซึ้ง น้ำตาไหล ไม่ยอมกินหญ้า” แต่ก่อนพระรูปนี้มีชื่ออะไรไม่มีปรากฏ ครั้นเมื่อกิตติศัพท์นี้ได้ขจรขจายไป จึงทำให้ท่านได้รับการขนานนามว่า “อัศวโฆษ” หมายถึง ผู้มีเสียงที่ไพเราะจนทำให้ม้าซึ้งใจน้ำตาไหล

พระอัศวโฆษได้เขียนผลงานประพันธ์อันทรงคุณค่า ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหากาพย์อยู่ ๒ เรื่ง คือ “พุทธจริต” ว่าด้วยเรื่องพรรณนาพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรม จนถึงทรงดับขันธปรินิพพาน นับเป็นจำนวนโศลกได้ ๒,๑๑๐ โศลก แต่คงเหลืออยู่ในปัจจุบันนี้เพียง ๑,๐๑๑ โศลกเท่านั้น และอีกผลงานหนึ่งคือมหากาพย์ “เสานทรนันทะ” ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับพระนันทะพระอนุชาร่วมบิดากับพระพุทธองค์ ที่มาบวชทั้ง ๆ ที่ยังตัดความรักไม่ได้ และท่านพระนันทะนี่เองที่เป็นต้นกำเนิดคำคมที่ว่า “ความรักไม่มีที่สิ้นสุด” และ “มีรักที่ไหน มีทุกข์ที่นั่น”
เชื่อกันว่า พระอัศวโฆษนี่เองเป็นผู้ประพันธ์คัมภีร์ “สูตราลังการ” ต้นฉบับภาษาสันสกฤต ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว คงเหลือแต่ฉบับคำแปลโดยท่านกุมารชีพ ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาจีนให้ได้เห็นอยู่ทุกวันนี้
ตำนานประวัติฝ่ายจีนบันทึกไว้ว่า พระอัศวโฆษลาเพศจากสมาณะมาเป็นอุบาสกอยู่ระยะหนึ่ง เพื่อแต่งผลงานด้านบทละครร้องเรื่อง “รัฐปาละ” ตามที่พระเจ้าแผ่นดินอาราธนาขอ ผลงานนี้ได้รับความชื่นชอบอย่างยิ่ง
แหล่งข้อมูล


เสถียร โพธินันทะ. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. สร้างสรรค์บุ๊ค๒๑๗ ซอยสุขุมวิท ๒๐ คลองเตย กรุงเทพ พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๔๔


สุชาติ หงษา ดร. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. สำนักพิมพ์ศยาม ๑๑๗-๑๑๙ ถนนเฟื่องนคร กรุงเทพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น