วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คำว่าแม่ ตอนที่ ๒



ในบทความนี้จะอธิบายและสืบค้นเอาความหมายเฉพาะคำว่า “แม่” ในภาษาไทยเป็นหลัก เรามาสืบค้นดูซิว่า คำว่า “แม่” นั้นดั้งเดิมของคำนี้มีความหมายว่าอย่างไร  

 จากเอกสารศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษที่พิมพ์เผยแพร่โดย ศูนย์สังคีตศิลป์ ฝ่ายการประชาสัมพันธ์ ร่วมกับกรมศิลปากร โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทรวงวัฒนธรรม และกรุงเทพมหานคร ได้เขียนถึงเรื่อง แม่สรี – แม่ศรี “ผีบรรพบุรุษ” รากเหง้าเก่าแก่ในสงกรานต์อุษาคเนย์ ในที่นี้ผู้เขียนขออนุญาตเก็บใจความและเสริมความเพื่ออ่านกันเข้าใจง่าย ๆ ดังนี้

คำว่า “แม่ศรี” ที่คนไทยเรานำมาใช้พูดใช้เขียนกัน เป็นการนำคำ ๒ คำมารวมกัน คือคำว่า แม่ ซึ่งเป็นคำพื้นเมืองดั้งเดิมของอุษาคเนย์ กับคำว่า ศรี ซึ่งเป็นคำจากภาษาสันสกฤต
การที่คนไทยนำคำมาผสมกันว่า แม่ศรี นี้ผิด เพราะที่ถูกต้องเขียนว่า แม่สรี เป็นคำจากภาษาเขมร อ่านว่า แม่-สะ-รี ซึ่งบางท้องถิ่นในประเทศไทยใกล้เขมรจะเขียนว่า แม่สี ซึ่งถูกต้องใกล้เคียงรากเหง้าเก่าแก่ที่สุด

 ส่วนคำว่า แม่ ตรงกับคำเขมรว่า เม หมายถึง หัวหน้า หรือผู้เป็นใหญ่ เช่น แม่ทัพ แม่น้ำ ฯลฯ ส่วนคำว่า สรี เป็นคำเขมรว่า สฺรี อ่านว่า เซฺรีย กลายมาจากคำว่า สฺตรี หมายถึง ผู้หญิง คำว่า สฺตรี นี้มาจากภาษาสันสกฤต เมื่อรวมเข้าเป็น แม่สรี หรือ แม่สี ก็หมายถึง หญิงผู้เป็นใหญ่ หรือ ผู้หญิงที่เป็นหัวหน้า

 มีหลักฐานยืนยันได้ว่า ผู้หญิงที่เป็นใหญ่ หรือเป็นหัวหน้า โดยเฉพาะในพิธีกรรม มีทั่วไปในโลกยุคเริ่มแรก เฉพาะภูมิภาคอุษาคเนย์มีร่องรอยและหลักฐานชัดเจนเป็นที่รู้ทั่วไป เช่น นิทานกำเนิดบ้านเมืองและรัฐทั้งเขมรและมอญ ฯลฯ โดยเฉพาะเขมรมีนิทานเรื่อง นางนาค แล้วไทยรับนิทานเรื่องนี้มา ยังเหลือเค้าอยู่ในกฎมณเฑียรบาลชื่อ พระราชพิธีเบาะพก ว่าพระเจ้าแผ่นดินต้องบรรทมด้วยแม่หยัวพระพี่ ก็คือ นางนาค อย่างเดียวกับนิทานของนครธม

จากเนื้อความในเอกสารศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษนี้ ดูเหมือนจะทำให้เราได้มองเห็นต้นเค้าของคำว่า แม่ อยู่บ้าง ถ้าเราวางพื้นฐานความรู้เรื่องพัฒนาการว่า ภาษามีการยืมคำมาใช้กันได้ และมีการเพี้ยนคำตามวันเวลาและตามธรรมชาติในการเปล่งเสียงของชนเชื้อชาติที่ต่างกัน แต่ยังคงเนื้อเสียงที่ใกล้เคียงกัน เช่นคำว่า แม่ ตรงกับคำเขมรว่า เม อาจสันนิษฐานได้ว่า คำว่า แม่ เป็นคำยืมที่เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า เม หรือคำว่า เม เป็นคำยืมที่เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า แม่ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ทั้งสองทาง ตราบเท่าที่เราไม่สามารถพิสูจน์ทราบความจริงอันเป็นต้นตอได้

 คำว่า “แม่” นี้ตกผลึกเป็นคำที่ฝังแน่นอยู่ในหัวใจของคนไทยทุกคนมาช้านาน ถ้าจะถามหาถึงความหมายที่แน่นอนของคำว่า แม่ ในปัจจุบัน คงต้องยกหน้าที่นี้ให้กับนักปราชญ์ราชบัณฑิต ซึ่งท่านได้เก็บคำว่า แม่ พร้อมทั้งให้ความหมายไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าการอธิบายหรือการให้ความหมายของคำว่า แม่ นั้น ท่านจะเขียนไว้อย่างกลาง ๆ ชวนให้งวยงงอยู่บ้าง ก็ยังดีกว่าไม่เก็บคำนี้ไว้ หรือไม่ได้ให้ความหมายไว้เสียเลย ในบทความนี้ผู้เขียนได้เสริมเติมคำที่เกี่ยวกับแม่เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการง่ายต่อการสื่อให้ตรงกับสารสำหรับผู้เขียนกับผู้อ่าน

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้เก็บคำว่า แม่ เอาไว้ โดยตั้งเป็นคำหลักหรือที่เรียกทางภาษาวิชาการว่า แม่คำ และมีคำรอง ๆ ลงมา ที่เรียกว่า ลูกคำ เอาไว้หลายคำ ดังนี้
แม่ น. (หมายถึงเป็นคำนาม) หมายถึง หญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูลูก, คำที่ลูกเรียกหญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูตน ; คำที่ผู้ใหญ่เรียกผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่าด้วยความสนิทสนมหรือรักใคร่เป็นต้นว่า แม่นั่น แม่นี่ ;
 

คำใช้นำหน้านามเพศหญิง แปลว่า ผู้เป็นหัวหน้า เช่น แม่บ้าน ;
ผู้หญิงที่กระทำกิจการหรืองานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ค้าขาย เรียกว่า แม่ค้า ทำครัว เรียก แม่ครัว ;
เรียกสัตว์ตัวเมียที่มีลูก เช่น แม่ม้า แม่วัว ;
เรียกคนผู้เป็นหัวหน้าหรือเป็นนายโดยไม่จำกัดว่าเป็นชายหรือหญิง เช่น แม่ทัพ แม่กอง ;
คำยกย่องเทวดาผู้หญิงบางพวก เช่น แม่คงคา แม่ธรณี แม่โพสพ, บางทีก็ใช้ว่า เจ้าแม่ เช่น เจ้าแม่กาลี ;
เรียกสิ่งที่เป็นประธานของสิ่งต่าง ๆ ในพวกเดียวกัน เช่น แม่กระได แม่แคร่ แม่แบบ ;
เรียกชิ้นใหญ่กว่าในจำพวกสิ่งที่สำหรับกัน เช่น แม่กุญแจ คู่กับ ลูกกุญแจ ;
แม่น้ำ เช่น แม่ปิง แม่วัง ;
คำหรือพยางที่มีแต่สระ ไม่มีตัวสะกด เรียกว่า แม่ ก กา,
คำหรือพยางค์ที่มีตัว ก ข ค ฆ สะกด เรียกว่า แม่กก,
คำหรือพยางค์ที่มีตัว ง สะกด เรียกว่า แม่กง,
คำหรือพยางค์ที่มีตัว จ ฉ ช ซ ฌ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ด ต ท ธ ศ ษ ส สะกด เรียกว่า แม่กด,
คำหรือพยางค์ที่มีตัว ญ ณ น ร ล ฬ สะกด เรียกว่า แม่กน,
คำหรือพยางค์ที่มีตัว ม สะกด เรียกว่า แม่กม,
คำหรือพยางค์ที่มีตัว ย สะกด เรียกว่า แม่เกย แต่ในมูลบทบรรพกิจมี ย ว อ สะกด,
คำหรือพยางค์ที่มีตัว ว สะกด เรียกว่า แม่เกอว

2 ความคิดเห็น:

  1. คำว่า "แม่" ในภาษาบาลีใช้คำว่า "มาตา" ความหมายของคำว่า "มาตา" แปลว่า "ผู้ที่ลูกนับถือ" โดยรากศัพท์มาจากคำว่า "มา" ธาตุ แปลว่า นับถือ หรือ ออกเสียง(นับ) ลง ตา ปัจจัยต่อท้าย โดยนัยนี้ "มาตา" จะหมายถึง ผู้นับหรือเครื่องนับ เครื่องวัด เครื่องชั่ง เครื่องตวง ก็ได้ ภาษาไทยได้นำมาใช้ในคำว่า "มาตรา"
    อีกนัยหนึ่ง คำว่า "มาตา" มาจากรากศัพท์ว่า "มาน" แปลว่า บูชา, นับถือ, รัก เมื่อลง ตา ปัจจัย ก็ลบ "น" ออกเสีย ได้รูปศัพท์ว่า "มาตา" แปลโดยความว่า ผู้เป็นที่รักหรือที่บูชาของลูก"
    ธีร์ พุ่มทับทิม

    ตอบลบ