วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คำว่าแม่ ตอนที่ ๔ (ตอนจบ)


 แม่เฒ่า น. หมายถึง   คำสุภาพเรียกหญิงชรา,  ภาคอีสานใช้เรียก  แม่ของเมีย
 แม่เฒ่าน้อย น. หมายถึง   พี่สาวแม่ของเมีย  (ใช้ในภาคอีสาน)
 แม่ดำ น. หมายถึง   เป็นคำเพี้ยนมาจาก  มาดาม  แม่ชีอาวุดสของคริสต์ศาสนา
 แม่แดง น. หมายถึง   เรียกเด็กหญิง  หรือ  หญิงสาว  ที่อ้อนออเซาะอย่างเด็กเล็ก ๆ ว่า  แม่แดง,  บางถิ่นใช้เรียกลูกหญิงก็มี
 แม่ตะงาว น. หมายถึง   งูพิษชนิดหนึ่ง
 แม่ตัว น. หมายถึง   หญิงผู้ให้กำเนิดที่แท้จริงของตัว
 แม่ทองดำ น. หมายถึง   ฝิ่น  (เป็นคำแสลงที่นักเลงฝิ่นใช้เรียกกัน)
 แม่ทูนหัว น. หมายถึง   หญิงที่รับอุปถัมภ์เด็กที่เข้าพิธีรดน้ำมนตร์ตั้งชื่อ ตามพิธีแบ๊ปติสม์ของคริสต์ศาสนา  (god-mother),  แม่อุปถัมภ์  ก็เรียก
 
แม่นาง เป็นคำสรรพนาม  หมายถึง  คำสรรพนามที่ ๒  พูดกับคู่สนทนาที่เป็นหญิงอย่างสุภาพ
 แม่บังเกิดเกล้า น. หมายถึง แม่ผู้ให้กำเนิดลูก,  บางทีใช้เป็นคำสัพยอกเรียกหญิงก๋ากั่น
 แม่ปลวก น. หมายถึง  ปลวกตัวเมียที่เรียกว่า ควีน  ตัวขนาดหัวแม่มือ  ตัวยาวราวนิ้วครึ่ง มีหน้าที่ผสมพันธุ์และออกไข่
 แม่ผัว น. หมายถึง   แม่ของผัว
 แม่พระ น. หมายถึง   หญิงที่มีคุณงามความดีมีเมตตากรุณา,  นักบุญหญิงแห่งคริสต์ศาสนา
 แม่พระธรณี  น. หมายถึง   เทวดาผู้หญิงที่สถิตอยู่ภาคพื้นดินหรือที่ประตู
 แม่โพสพ น. หมายถึง   เทพธิดาประจำข้าว
 แม่ม่ายผัวเผลอ น. หมายถึง   หญิงที่แสดงตัวเป็นม่ายเมื่อออกนอกบ้าน  หรือเวลาผัวไม่อยู่  มักหมายถึง หญิงที่ชอบนอกใจผัว
 แม่ม่ายลองไน น. หมายถึง   ชื่อจักจั่นตัวเล็ก สีค่อนข้างดำพวกหนึ่ง,  บางทีเรียกสั้น ๆ ว่า  แม่ม่าย หรือ ลองไน ก็มี
 แม่ไม้มวยไทย น. หมายถึง   ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของคนไทย  มีชื่อกำหนดท่าหลายชื่อ
 แม่ยก น. หมายถึง หญิงที่ให้ความสนับสนุนอุปถัมภ์นักแสดงต่าง ๆ  เช่น  ลิเก  นักร้อง ฯลฯ
 แม่ศรี น. หมายถึง   ประเพณีอย่างหนึ่ง  เรียกผีมาเข้า  ผู้ถูกผีเข้าจะรำอย่างอ่อนช้อย  ผู้เข้าใช้ผู้หญิง
 
แม่ศรีเรือน น. หมายถึง   ยอดหญิง  ที่เป็นสิริแก่บ้าน,  หญิงที่มีคุณงามความดีสมกับที่จะเป็นแม่เรือน
 แม่เสือ น. หมายถึง   เสือตัวเมียที่มีลูก,  ปริยายหมายถึง  หญิงที่ดุร้ายก๋ากั่น
 แม่หนู น. หมายถึง   ผู้ใหญ่เรียกเด็กหญิงเล็ก ๆ หรือผู้หญิงที่อ่อนอาวุโสกว่า แม่หนู
 แม่หวัด น. หมายถึง   จำพวกกุ้งหัวแข็ง
 แม่ใหญ่ น. หมายถึง   ลูกสาวคนโต, บางถิ่นใช้เรียก  ยาย  หรือ  ย่า  ว่า  แม่ใหญ่
 แม่อธิการ น. หมายถึง   แม่ชีแห่งคริสต์ศาสนา  ผู้เป็นหัวหน้าสำนัก
 แม่อีแดง น. หมายถึง   คำที่ชาวบ้านสมัยก่อนเรียกเมียของตน,  แม่อีหนู  ก็เรียก
 แม่ไอ้แดง น. หมายถึง   คำที่ชาวบ้านสมัยก่อนเรียกเมียของตน,  แม่ไอ้หนู  ก็เรียก
 คำว่า  แม่  นั้น  โดยเนื้อแท้ของความหมายบ่งบอกถึง  ความเป็นใหญ่,  ความกว้างขวาง,  ความแผ่ไพศาล,  
 
ความเป็นผู้นำ  และความหมายของคำว่า  แม่  ก็จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อนำไปผสมกับคำอื่น ๆ  ที่ผู้พูดต้องการเน้นย้ำถึงความสำคัญ
  ของคำนั้น ๆ  ดังเช่นลูกคำของคำว่าแม่  ดังได้เสนอมาแล้ว
 อย่างไรก็ตาม  ความหมายหลักของคำว่า แม่ ก็คือหญิงผู้ให้กำเนิดลูกหรือหญิงผู้ให้ชีวิตลูก หญิงผู้ปกป้องคุ้มครองและดูแลรักษาลูก 
   สังคมไทยแต่เดิมยกย่องและให้เกียรติหญิงเพศผู้เป็นแม่ ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่และบุญคุณของแม่ต่อชีวิตของลูก ๆ 
  ตลอดมาทุกยุคทุกสมัยอานุภาพของคำว่า  แม่  สามารถซึมซาบเข้าสู่ความรู้สึกและอารมณ์ที่อ่อนโยนของคนไทยได้ตลอดเวลาและแทบทุกกรณี  
  อย่างเช่นการนำความหมายเกี่ยวกับแม่มาประพันธ์และขับร้องเป็นบทเพลงแนวต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นแนวลูกกรุง  ลูกทุ่ง  เพื่อชีวิต  แนวเพลงสมัยใหม่ในปัจจุบัน
    หรือแม้แต่บทเพลงกล่อมลูก   หรือจะนำมาเขียนบรรยายความรู้สึกรัก  เคารพ เทิดทูน  เป็นบทกลอน  นิยายเรื่องสั้น  นิยายเรื่องยาว  นิทาน  
  หรือนำมาแสดงเป็นละคร  ภาพยนตร์  เมื่อได้อ่าน  ได้ดู  ได้ฟังครั้งใด  ความรู้สึกของผู้รับอ่าน  รับดู  รับฟัง  ก็ซาบซึ้งตรึงใจพร้อมกับนึกถึงแม่ของตัวเองทุกครั้ง
 นี่คือคุณค่าแห่งภาษาไทยอย่างอัศจรรย์ภาษาหนึ่งในโลก  นับเป็นความน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างสูงยิ่งที่เราคนไทย
  ได้มีภาษาไทยที่มีคุณค่าและงดงามทั้งน้ำเสียงและความหมายไว้ใช้เป็นภาษาประจำชาติของเรา
   ดังนั้น  ควรที่เราคนไทยทุกคนได้ร่วมใจกันรักษ์ภาษาไทยของเราไว้ให้คงอยู่คู่โลกมนุษย์นี้  ตราบสิ้นกาลแห่งอายุขัยของโลก  มิใช่ฤา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น