วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

พระปิยมหาราช


ประวัติศาสตร์ในอดีตคือคุณค่าแห่งปัจจุบัน
: สืบค้นรอยประพาสต้นของรัชกาลที่ ๕  ในบ้านแหลม  เพชรบุรี

ธีร์   พุ่มทับทิม

จดหมายฉบับที่ ๕


เมืองเพชรบุรี
    ณ วันที่ ๒๙ เดือนกรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓
ถึง พ่อประดิษฐ์
                จดหมายฉบับก่อนฉันส่งไปแต่เมืองสมุทรสงคราม บัดนี้ได้ตามเสด็จมาประพาสเมืองเพชรบุรีได้ ๖ วัน จะเสด็จจากเมืองเพชรบุรีพรุ่งนี้ มีเวลาว่างอยู่บ้างฉันจึงได้จดหมายฉบับนี้ส่งมาบอกข่าวคราว
วันที่ ๒๔ เวลาเช้า เสด็จลงเรือฉลอม[1] แล่นใบออกไปประพาสละมุ[2]  ที่เขาไปจับปลาตามปากอ่าวแม่กลอง มีเรือฉลอมแล่นไปในกระบวนเสด็จ ๓ ลำด้วยกัน เที่ยวหาซื้อกุ้งปลาที่เขาจับได้ตามละมุ แล้วต้มข้าวต้ม ๓ กษัตริย์ขึ้นในเรือฉลอม ที่เรียกว่าข้าวต้ม ๓ กษัตริย์นั้นคือ ต้มอย่างข้าวต้มหมู แต่ใช้ปลาทูกุ้งกับปลาหมึกแซกแทนหมู เป็นของทรงประดิษฐ์ขึ้นเช้าวันนั้นเอง ตั้งแต่ฉันเกิดมาไม่เคยกินข้าวต้มอร่อยเหมือนวันนั้นเลย เฉพาะเหมาะถูกคราวคลื่นราบลมดี เรือฉลอมแล่นใบลมฉิวราวกับเรือไฟ เสด็จพระองค์อาภา[3] เป็นกัปตันถือท้ายเรือพระที่นั่ง แล่นลิ่วออกไปจากปากน้ำแม่กลอง แต่อย่างไรแล่นไกลออกไปทุกทีๆ นานเข้าพวกเจ้าของเรือเห็นจะออกประหลาดใจแลดูตากันไปมา ท่านก็ทอดพระเนตรเห็นแต่เห็นท่านยิ้มๆกัน ฉันออกเข้าใจว่าเห็นจะแล่นใบเลยไปเมืองเพชรแน่แล้ว ดูใกล้ปากน้ำบ้านแหลมเข้าทุกที พอแล่นเข้าไปก็พบกรมหมื่นมรุพงศ์[4] ทรงเรือไฟศรีอยุธยามาคอยรับเสด็จอยู่ที่ปากน้ำ เป็นอันเข้าใจได้ว่ามีอะไรที่จะเล่นกันสักอย่างหนึ่งซึ่งท่านได้ทรงนัดแนะกันไว้แล้วเป็นแน่ ได้ยินแต่กรมหมื่นมรุพงศ์กราบทูลว่าสำเร็จสนิททีเดียว เสด็จลงเรือศรีอยุธยาแล่นขึ้นไปตามลำแม่น้ำเมืองเพชรบุรี พอจวนจะถึงเมืองรับสั่งเรียกพวกที่ไปตามเสด็จให้เข้าซ่อนตัวอยู่ในเก๋ง มีแต่กรมหมื่นมรุพงศ์ประทับอยู่หน้าเรือพระองค์เดียว ฉันแอบมองตามช่องม่าน เมื่อแล่นผ่านพลับพลาเห็นเจ้าพระยาสุรพันธ์นั่งอยู่ที่นั้น ได้ยินเสียงกรมหมื่นมรุพงศ์ร้องรับสั่งขึ้นไปแก่เจ้าพระยาสุรพันธ์ว่า "เห็นจะเสด็จถึงค่ำละเจ้าคุณ ให้เตรียมคบไฟไว้เถิด ฉันจะขึ้นไปหาเสบียงที่ตลาดสักประเดี๋ยวจะกลับลงมา" แล้วเรือศรีอยุธยาก็แล่นลอดสะพานช้างชึ้นไปจอดหน้าบ้านเจ้าพระยาสุรพันธ์ เสด็จขึ้นประทับในบ้านเจ้าพระยาสุรพันธ์ แล้วรับสั่งให้กรมหมื่นมหิศร[5] ไปตามเจ้าพระยาสุรพันธ์ ประเดี๋ยวใจเจ้าพระยาสุรพันธ์วิ่งตุบตับมาหน้านิ่วถวายคำนับ แล้วยืนถอนใจใหญ่ มีรับสั่งว่า มาตอบแทนที่เจ้าพระยาสุรพันธ์ล่วงหน้าไปรับถึงบ้านปากธ่อเมื่อเสด็จคราวก่อน เจ้าพระยาสุรพันธ์ก็ไม่เพ็ดทูลว่ากระไร พวกเราก็สิ้นเกรงใจลงนั่งหัวเราะเจ้าพระยาสุรพันธ์งอๆไปตามกัน พอลับหลังพระที่นั่งเจ้าพระยาสุรพันธ์ไพล่มาโกรธเอาพวกเราไม่เลือกหน้าว่าใคร กรมหมื่นมรุพงศ์เป็นผู้ถูกตัดพ้อต่อว่ากว่าผู้อื่น แต่ท่านยิ่งโกรธเท่าใด ก็ยิ่งทำให้พวกเราหัวเราะยิ่งขึ้นจนหายโกรธไปเอง
เสด็จประทับอยู่ที่เมืองเพชรบุรีนี้ ไม่ใคร่มีโอกาสได้เสด็จประพาสต้น เพราะไม่มีทางที่จะเล็ดลอดหลีกไปได้เหมือนแถวแม่น้ำราชบุรี และสมุทรสงคราม ความสนุกแปลกประหลาดไม่ใคร่จะมี จะเล่าระยะทางที่เสด็จให้พ่อประดิษฐ์ทราบแต่พอเป็นเลาๆคือ วันที่ ๒๕ เสด็จประพาสทางเรือข้างเหนือน้ำ วันที่ ๒๖ เสด็จทางเรือไปประพาสบางทะเล ประทับแรมที่บางทะลุคืนหนึ่งยุงชุมพอใช้ วันที่ ๒๗ เสด็จเรือฉลอมแล่นใบจากบางทะลุมาทางทะเลเข้าบ้านแหลม น้ำงวดเรือติดปากอ่าว พายุก็ตั้งมืดมาจะรออยู่ช้ากลัวจะถูกพายุ ผู้ไปตามเสด็จจึงพร้อมใจกันอาสาลงลุยเลนเข็นเรือกับพวกเจ้าของเรือ สงสารแต่นายอัษฎาวุธเข้ายอมยกให้แล้วว่าไม่ต้องลงไปก็ไม่ฟัง พอเรือพ้นตื้นเข้าปากน้ำได้ก็ถูกฝนใหญ่เปียกกันมอมแมม กลับมาถึงเมืองเพชรบุรีสักทุ่มหนึ่ง วันที่ ๒๘ เสด็จประพาสพระนครคีรี ถวายพุ่มพระสงฆ์เข้าพรรษาด้วย วันที่ ๒๙ เช้าเสด็จประพาสวัดต่างๆในเมืองเพชรบุรี บ่ายวันนี้จะออกกระบวนเรือใหญ่ล่องลงไปประทับแรมที่บ้านแหลม พรุ่งนี้จะออกจากบ้านแหลมเสด็จไปประทับแรมที่เมืองสมุทรสาคร

นายทรงอานุภาพ


<!--[if !supportLineBreakNewLine]-->
<!--[endif]-->

จดหมายฉบับที่ ๖

บ้านปากไห่
วันที่ ๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓

ถึง พ่อประดิษฐ์
พรุ่งนี้ฉันจะกลับถึงบ้านแล้ว วันนี้เขียนจดหมายเล่าเรื่องตามเสด็จให้พ่อประดิษฐ์ฟังเสียอีกฉบับ ถ้ามีเรื่องราวอะไรต่อนี้ไป จะเล่าให้ฟังเมื่อไปพบกับพ่อประดิษฐ์ในกรุงเทพฯทีเดียว
ตั้งแต่ฉันจดหมายไปถึงพ่อประดิษฐ์จากเมืองเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม บ่ายวันนั้นออกกระบวนใหญ่ล่องลงมาประทับแรมที่บ้านแหลม ทอดพระเนตรเห็นเรือเป็ดทะเลทอดอยู่ที่นั่นหลายลำ รับสั่งว่า เรือเป็ดทะเลมีประทุนน่าจะสบายดีกว่าเรือฉลอม ใครกราบทูลไม่ทราบ ว่าเรือเป็ดแล่นใบทะเลเสียดดีกว่าเรือฉลอมด้วย จึงตกลงว่าจะลองเสด็จเรือเป็ดทะเลแล่นใบจากบ้านแหลม ลงมาปากน้ำท่าจีน เพราะเมืองสมุทรสงครามและคลองสุนัขหอนก็ได้เคยเสด็จประพาสแล้ว ตระเตรียมเรือเป็ดทะเลกัน ๓ ลำ
พอเวลาเช้าก็แล่นใบออกจากปากน้ำบ้านแหลม ฉันตามเสด็จมาในเรือพระที่นั่ง ตอนเช้าคลื่นราบได้ลมดี ได้เห็นเรือเป็ดทะเลแล่นเสียดรวดเร็วดีกว่าเรือฉลอม จริงดังเขาว่า มาได้สัก ๒ชั่วโมง พอพ้นปากน้ำแม่กลองมาตรงบ้านโรงกุ้งออกๆจะมีคลื่น เรือโยนแรงขึ้นทุกทีๆมีคนที่ไปตามเสด็จด้วยกันเมาคลื่นลงหลายคน แต่ฉันมั่นใจว่าตัวเองคงไม่เมา เคยไปตามเสด็จทะเลมา ถ้าจะนับเที่ยวก็แทบจะไม่ถ้วน ไม่เคยเมาคลื่นกับใครง่ายๆ แต่อย่างไรวันนี้ออกจะสวิงสวายใจคอไม่สู้ปกติ แต่แข็งใจทำหน้าชื่นมาได้สักชั่วโมงหนึ่ง คลื่นเจ้ากรรมก็หนักขึ้นลงปลายฉันเองก็ล้มขอนกับเขาอีกคนหนึ่ง ข้าวต้มสี่กษัตริย์ห้ากษัตริย์ อะไรที่ทรงทำในวันนี้รับพระราชทานไม่ไหว ลงนอนแหมะอยู่หน้าเสาตอนศีรษะเรือ นึกน้อยใจนายมานพเห็นเพื่อนกันเมาคลื่น ชอบแต่ว่าจะหาน้ำหาข้าวมาช่วยหยอด นี่กลับกล้องมาถ่ายรูปกันเล่นเห็นเป็นสนุก แต่จะตอบแทนอย่างไรเราก็เมาคลื่นเต็มทน ต้องนิ่งนอนเฉยจนเรือแล่นใบเข้าปากน้ำท่าจีน จึงลุกโงเงขึ้นได้ หิวเหมือนไส้จะขาด เที่ยวค้นคว้าหาอะไรกิน ได้แต่ข้าวต้มซึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้เก็บรักษาไว้พระราชทานชามหนึ่ง นอกจากนั้นจะเป็นลูกหมากรากไม้อะไรไม่มีเหลือ เพราะพวกที่เขาไม่เมาคลื่นว่ากันเสียชั้นหนึ่งแล้ว เหลืออยู่เท่าใด พวกที่หายเมาคลื่นก่อนฉันช่วยกันซ้ำเสียหมด เพราะฉันออกมานอนแน่วอยู่ทางหัวเรือ ลุกไปไม่ทัน ที่ได้กินข้าวต้มชามหนึ่งก็เพราะรับสั่งให้รักษาไว้พระราชทานฉันโดยเฉพาะ ถ้าหาไม่ข้าวต้มชามนั้นก็คงจะพลอยสูญไปด้วย อย่างไรก็ตามเถิด พอเข้าแม่น้ำได้ก็นึกสาปส่งว่าขึ้นชื่อว่าเรือเป็ดทะเล ถึงจะแล่นใบเสียดดีกว่านี้อีกสักเท่าใดๆ ก็เห็นจะไม่ยอมไปเรือเป็ดทะเลอีกแล้ว ........

นายทรงอานุภาพ


                ผมได้นำจดหมายอันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์  ที่พระนิพนธ์โดย  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เป็นพระเจ้าน้องยาเธอของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  หรือองค์รัชกาลที่ ๕  แห่งพระราชวงศ์จักรีของไทยเรา  โดยเนื้อความของจดหมายดังกล่าวมานั้นปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่อง  เสด็จประพาสต้น”  ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  กับพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยอย่างยิ่งเล่มหนึ่ง
                สิ่งที่ทำให้ผมเกิดความสนใจขึ้นมาก็คือ  คำว่า  บ้านแหลม  และข้อความที่ว่า  เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม (๒๔๔๗) บ่ายวันนั้นออกกระบวน(เรือ)ใหญ่ล่องลงมาประทับแรมที่บ้านแหลม  เป็นประหนึ่งให้เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า  แล้วปัจจุบันนี้สถานที่ประทับแรมเมื่อครั้งที่พระปิยมหาราชได้เสด็จมาประทับแรมที่บ้านแหลมนั้นอยู่ตรงไหน  ร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์เรื่องนี้แทบไม่เคยมีใครกล่าวถึงหรือชี้ชัดลงไปได้เลยว่า  เป็นสถานที่ตรงไหนกันแน่ 
                วันเวลาผ่านไป  ถ้านับจากปี พ.ศ. ที่พระปิยมหาราชได้เสด็จมาที่บ้านแหลม  คือ ร.ศ. ๑๒๓  เท่ากับ  พ.ศ.๒๔๔๗  เมื่อนับระยะเวลาจากปี พ.ศ. ดังกล่าวถึงปัจจุบันปี พ.ศ.๒๕๕๒  ก็เป็นเวลา  ๑๐๕  ปี  ผู้คนที่ได้ทันเห็นเหตุการณ์เมื่อครั้งที่องค์พระปิยมหาราชเสด็จมาบ้านแหลม  ก็คงล้มหายตายจากกันไปหมดแล้วเป็นแน่  แต่ก็น่าแปลกใจตรงที่ทำไมไม่มีใครได้อนุรักษ์สถานที่อันเป็นที่ประทับแรมขององค์พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของไทยเอาไว้ที่บ้านแหลมบ้าง
                ผมได้เพียรพยายามสืบค้นร่องรอยประวัติศาสตร์ตรงนี้มาตลอดเวลา  แต่ก็ไร้ร่องรอยที่ชี้ชัดให้ตรงกับประวัติศาสตร์ที่บันทึกเอาไว้ดังกล่าวมาได้  ดังนั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์แห่งประวัติศาสตร์ของบ้านแหลม  และพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ ๕  ในวันที่  ๑๒  สิงหาคม  ๒๕๕๒  ซึ่งตรงกับวันแม่แห่งชาติ  ทางวัดต้นสนโดยมีพระครูพัชรคุณาทร  ผู้เป็นเจ้าอาวาสวัด  พร้อมเหล่าศิษยานุศิษย์ได้ร่วมใจกันจัดงานเททองหล่อพระบรมรูปองค์รัชกาลที่ ๕  ขนาดสูง  ๑๘๐  ซม.  โดยมีคุณวัลลภา  ธีระสานต์  คุณกาญจนรัตน์  คุณอำนาจ  คุณจารีนี  วรานนท์  ได้บริจาคทุนทรัพย์จำนวน  ๕๐๐,๐๐๐  บาท (ห้าแสนบาท)  เพื่อเป็นค่าดำเนินงานเททองหล่อองค์พระบรมรูปพระปิยมหาราช   พร้อมกันนี้มีข้าราชการ  ทหาร  ตำรวจ  นิสิต  นักศึกษา  พ่อค้าแม่ค้า  ประชาชนทั่วไป  ได้ร่วมจิตร่วมใจกันดำเนินการเททองหล่อในครั้งนี้ด้วย  รวมสรุปค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างองค์พระบรมรูปพระปิยมหาราชนี้คิดเป็นจำนวนเงินกว่า  ๘๐๐,๐๐๐  บาท  (แปดแสนบาท)   และได้ประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ในวันที่  ๒๓  ตุลาคม ๒๕๕๒  โดยมี  ม.ร.ว.สุขุมพันธ์  บริพัตร์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ผู้มีฐานันดรศักดิ์เป็นเหลนในองค์พระปิยมหาราช  ให้เกียรติมาเป็นประธานทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์รัชกาลที่ ๕  ณ วัดต้นสน  บ้านแหลม  เพชรบุรี  ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์แห่งดินแดนบ้านแหลม  และเป็นอนุสรณ์สถานน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระบารมีแห่งองค์พระพุทธเจ้าหลวงสืบต่อไป
                หลังจากวันที่  ๒๓  ตุลาคม  ๒๕๕๒  ผ่านไปได้    เดือน  คุณทิฆัมพร  ตันติวิญญูพงศ์  ได้มาบอกให้ทราบเป็นนัยว่า  มีผู้เล่าว่ามีสถานที่เป็นหลักฐานเมื่อครั้นที่รัชกาลที่ ๕  ได้เคยเสด็จมาประทับ  ถ้าสนใจจะอาสาพาไปดูสถานที่ดังกล่าว  ผมตอบตกลงทันที  ดังนั้นในวันที่  ๒๓  พฤศจิกายน  ๒๕๕๒  เวลาประมาณ    โมงเช้า  คุณทิฆัมพรขับรถมารับผมแล้วก็เดินทางกันไปดูสถานที่มีผู้เล่ากันไว้ดังกล่าว  ซึ่งเส้นทางที่จะไปนั้นก็คืออยู่ในหมู่ที่ ๑๐  ของบ้านแหลม  ผ่านวิหารหลวงพ่อสัมฤทธิ์  ผ่านศาลเจ้าฮุดโจ๊วเข้าไปทางซ้ายมือ  ผ่านคุ้งตาไป่  ซึ่งฝั่งตรงข้ามลำคลองจะเป็นแหลมตาชื่น  วิ่งรถมาก็ลึกพอสมควร
เส้นทางที่ไปเป็นถนนแคบ ๆ  เทคอนกรีตใหม่   ความกว้างขนาดรถมอเตอร์ไซค์พอวิ่งผ่านสวนทางกันได้  สถานที่เข้าใจกันว่าพระพุทธเจ้าหลวงเคยมาประทับแรมนั้นอยู่ใกล้กับอู่ต่อเรือของโกหน่าย  คุณทิฆัมพรได้ชี้ให้เห็นถึงสิ่งก่อสร้างที่ดูรูปร่างเหมือนศาลเจ้าอะไรสักอย่างหนึ่ง  แล้วบอกว่านี่แหละคือสถานที่เข้าใจว่าเป็นที่ประทับแรม 
ผมได้ถ่ายภาพลงมาให้เห็นเป็นหลักฐาน  เพื่อท่านผู้อ่านจะได้มองเห็นภาพเดียวกันกับที่ผมไปเห็นมา  มีลักษณะเป็นสิ่งก่อสร้างใหม่  สร้างครอบหรือล้อมอะไรไว้สักอย่างหนึ่ง

                ครั้นเข้าไปดูภายในก็จะมองเห็นต้นโพธิ์ยืนตายต้นนานแล้วอยู่    ต้น  มีโต๊ะหมู่เล็ก ๆ    ชุด  โดยมีพระบรมรูป ร.๕  หล่อด้วยปูนขาวทารักสีดำขนาด  ๙ นิ้ว    องค์  และมีเก้าอี้ไม้สำหรับนั่ง    ตัว  ซึ่งทุกอย่างที่ปรากฏให้เห็นนั้น  ล้วนแต่เป็นของใหม่ในยุคนี้ทั้งหมด  ทำให้ผมสรุปว่า  ภายในสิ่งก่อสร้างที่เหมือนศาลเจ้านี้ไม่มีหลักฐานอะไรยืนยันได้เลยว่า  เคยเป็นที่ประทับแรมของรัชกาลที่ ๕ 
                เมื่อหาหลักฐานทางวัตถุสิ่งของไม่ได้  ก็ต้องหาหลักฐานทางกายภาพหรือสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์  ต้องถือว่าเป็นบุญของผมอย่างหนึ่งที่ได้เดินทางมายังสถานที่แห่งนี้  ทำให้ได้พบเพื่อนเก่าสมัยที่เรียนหนังสือชั้นประถมด้วยกันที่โรงเรียนวัดลักษณาราม  นั่นคือได้พบกับคุณอุปถัมภ์  ฐิติไพศาลธนวงศ์  หลังจากต้องพลัดพรากกันไปนานร่วม  ๓๐  กว่าปี  แต่เค้าหน้าของเขายังคงมีส่วนเดิมอยู่จนทำให้ผมจำเขาได้  หลังจากได้ทักทายกันเป็นที่เรียบร้อย  ก็ได้สอบถามถึงสถานที่ประทับแรมของ ร.๕  ซึ่งอุปถัมภ์ก็ยอมรับว่า  ไม่เคยรู้มาก่อนเลย  ทั้ง ๆ  ที่บ้านของเขาก็อยู่ตรงนี้  เพื่อให้ได้ความย้อนหลังครั้งอดีต  เขาเลยไปตามคุณพ่อคุณแม่มาให้ผมสัมภาษณ์  ซึ่งพอเห็นหน้าผมก็จำได้ว่าเป็นคุณน้าย่อม  ญาติกับน้าเยาว์ซึ่งเป็นน้าสะใภ้ผมนั่นเอง  คุณน้าย่อมมาพร้อมกับคุณน้าไพรัญ  ท่านเล่าว่าอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เด็ก  จนถึงขณะนี้  คุณน้าย่อมอายุได้  ๗๖  ปี  คุณน้าไพรัญอายุ  ๗๑  ปี  แถมยังมีคุณตาอ้น  บุญมี  อายุ  ๘๐  ปี  เพื่อนบ้านแถวนั้นได้เข้ามาร่วมพูดคุยอดีตย้อนหลังให้ฟังอีกด้วย 
                จากการพูดคุยเชิงสัมภาษณ์เล่าเรื่องเก่าย้อนหลัง  ทำให้ได้ข้อมูลที่น่าพินิจมากทีเดียว  ท่านผู้ใหญ่    ท่านดังกล่าว  ได้เล่าว่า  พ่อแม่และคนรุ่นเก่าเล่าให้ฟังอีกทีหนึ่งว่า  ลำคลองแม่น้ำบ้านแหลมแต่ก่อนกว้างใหญ่กว่าทุกวันนี้มาก  สถานที่ตรงที่สร้างศาลครอบต้นโพธิ์ที่ยืนตายต้นนั้น  แต่ก่อนเคยเป็นศาลาริมน้ำ  เป็นศาลาขนาดใหญ่สำหรับนั่งพักของพ่อค้าแม่ค้าและผู้คนที่สัญจรผ่านทางแม่น้ำบ้านแหลม  คุณตาอ้นยืนยันว่า  เมื่อสมัยเด็ก ๆ  ยังมองเห็นต้นโพธิ์และต้นแสมใหญ่ยืนอยู่คู่กัน  ยังมีต้นเสาที่เคยเป็นศาลาหลังเดิมอยู่หลายต้น  มองเห็นเป็นรูปโครงของศาลาที่พักอาศัยได้ทันที  แต่ไม่รู้ว่ามีการรื้นถอนเสาไปเมื่อไร  ทุกวันนี้ก็มีเหลือเสาอยู่ต้นเดียวเท่าที่มองเห็น
                ผมได้พิเคราะห์ดูอายุความเก่าของเสาต้นที่ว่า  มีอายุนับเป็น  ๑๐๐  ปีจริงทีเดียว  ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าทึ่งในความรู้สึกผมมาก  และที่ทำให้ผมแทบจะปลงใจเชื่อได้ว่าที่นี่คือที่ประทับแรมขององค์รัชกาลที่ ๕  นั่นคือท่านผู้สูงวัย    ท่านนั้นกล่าวตรงกันว่า  ผืนดินตรงนี้เมื่อเจ้าของที่ดินเดิมทราบว่ามีพระมหากษัตริย์มาประทับแรม  จึงได้ยกถวายที่นี้ให้เป็นของหลวง  โดยอยู่ภายใต้การดูแลของราชพัสดุ  ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน    เมื่อได้สอบถามเจ้าของบ้านที่ปลูกในพื้นที่ของหลวงก็กล่าวว่า  เป็นที่ต้องเช่าหลวงและจ่ายค่าเช่าให้กับกองราชพัสดุ  ซึ่งที่น่าพินิจเป็นอย่างมากก็ตรงที่  พื้นดินแถบบริเวณนี้มีตรงนี้ที่เดียวที่เป็นของหลวง  นอกจากนั้นก็เป็นที่จับจองของชาวบ้านราษฎรทั่วไป
                หลังจากได้พูดคุยเชิงสัมภาษณ์กันพอสมควร  ก็เป็นอันสรุปได้ความว่า  มีความน่าจะเป็นไปได้  เรื่องสถานที่ครั้งสมัยองค์พระปิยมหาราชได้เคยเสด็จมาประทับแรมที่บ้านแหลม  ตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุพระนิพนธ์เรื่อง เสด็จประพาสต้น”  ดังที่ผมได้นำเนื้อความจดหมายฉบับที่ ๕  และที่ ๖  ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้  โดยใช้นามปากกาว่า  นายทรงอานุภาพ”  ด้วยระยะเวลาที่ผ่านไป  แม้จะไม่ปรากฏมีหลักฐานที่ยืนยันในเรื่องวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ขององค์รัชกาลที่ ๕ ได้เลย  แต่ก็มีสถานที่ทางภูมิศาสตร์ที่เป็นหลักฐานได้อย่างหนึ่งว่า  สถานที่ตรงนี้เคยเป็นศาลาริมน้ำหลังใหญ่  ใช้เป็นที่พักของผู้คนที่สัญจรทางเรือ  และพื้นแผ่นดินตรงนี้ทางเจ้าของที่ดินเดิมได้ยกให้เป็นของหลวง  โดยให้เหตุผลว่าเพราะมีพระมหา กษัตริย์ได้มาประทับพักที่ตรงนี้  หลักฐานคำบอกเล่าดังกล่าวมานั้นแม้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์ทราบได้ในขณะนี้  แต่ถ้าได้มีการสืบค้นถึงวันเวลาที่เจ้าของที่ดินได้ยกให้กับหลวง  ว่าเป็นวันเดือนปีใด  มีความใกล้เคียงกับ พ.ศ.๒๔๔๗  หรือไม่ประการใด  เมื่อได้ข้อมูลตรงนี้มาเทียบเคียงกับร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในพระนิพนธ์ เสด็จประพาสต้น”  ก็อาจทำให้การสืบค้นสถานที่ประทับแรมขององค์พระพุทธเจ้าหลวงในดินแดนบ้านแหลมดูจะอยู่อีกไม่ไกลแน่นอน
                แม้ว่าขณะนี้เราจะยังไม่ทราบสถานที่ประทับแรมของรัชกาลที่ ๕  ที่ชัดเจน  แต่ชาวบ้านแหลมก็ควรจะภาคภูมิใจได้อย่างหนึ่งว่า  ได้ปรากกฎร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกด้วยลายลักษณ์อักษรยืนยันไว้ชัดเจนว่า   เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม (๒๔๔๗)  บ่ายวันนั้นออกกระบวน(เรือ) ใหญ่ล่องลงมาประทับแรมที่บ้านแหลม  จึงเป็นเหตุผลประการสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้มีการสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕  เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่รำลึกถึงและเคารพเทิดทูนในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อประเทศไทย  ทำให้ไทยเราได้คงความเป็นเอกราช  และมีความเจริญรุ่งเรืองเทียมเท่านานาอารยประเทศตราบถึงทุกวันนี้  นั่นคือผลจากจุดเริ่มต้นที่องค์พระปิยมหาราชได้ทรงวางแนวทางไว้ให้เราชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างไม่มีวันลืมเลือน.


<!--[if !supportFootnotes]-->

<!--[endif]-->
<!--[if !supportFootnotes]-->[1]<!--[endif]--> "ฉลอม" เป็นชื่อประเภทของเรือนี่เอง ท่าฉลอมก็หมายถึงท่าที่มีเรือประเภทหนึ่งชื่อว่าเรือฉลอมอยู่มาก
<!--[if !supportFootnotes]-->[2]<!--[endif]--> ละมุ คือ โป๊ะเล็กๆ ที่ทำไว้สำหรับจับปลาตามชายฝั่งทะเล ห่างฝั่งออกไปไม่มากนัก
<!--[if !supportFootnotes]-->[3]<!--[endif]--> พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๕ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
<!--[if !supportFootnotes]-->[4]<!--[endif]--> พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ กรมขุนมรุพงษศิริพัฒน์

<!--[if !supportFootnotes]-->[5]<!--[endif]-->  พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔   พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น