วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คำว่าแม่ ตอนที่ ๑



มีใครบ้างที่รู้ว่า คำว่า “แม่” มีที่มาจากไหน ?
ใครเป็นผู้พูดหรือบัญญัติคำว่า “แม่” ใช้เป็นคนแรก ?
ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “แม่” หมายถึงอะไร ?


 จากคำถามที่ลองตั้งเป็นประเด็นให้ขบคิดกัน ๓ ประเด็นนั้น ก็นำความปวดหัวมาให้มิใช่น้อย จนบางทีเพื่อหลีกหนีความปวดหัว เราก็มักจะหลบเหลี่ยงโดยไม่สนใจไยดีกับคำถามเหล่านั้น หรืออาจจะมีคำพูดพอเป็นทางพาตัวรอดไปได้ว่า คำว่า “แม่” จะมาจากไหน ใครเป็นคนพูดคนแรก หรือมีความหมายที่แท้จริงเป็นอย่างไร ก็ไม่เห็นจะสำคัญตรงไหน ความสำคัญมันอยู่ตรงที่เรามีคำว่า “แม่” ใช้ และเป็นที่เข้าใจกันเป็นอย่างดีแล้วในทุกวันนี้ เท่านี้ก็น่าจะพอใจแล้วนี่นา ไม่เห็นจำเป็นต้องรื้อฟื้นหาที่มาที่ไปให้เสียเวลา

 นั่นก็เป็นสิทธิของผู้คิดในทำนองนั้นไป แต่ผู้ที่ใฝ่รู้มักจะคิดว่า ทุกคำถามน่าจะมีคำตอบ ซึ่งก็มีความน่าจะเป็นเช่นนั้น ดังนั้น ในบทความนี้ผู้เขียนขอลองเป็นผู้ตอบคำถามทั้ง ๓ ประเด็น ซึ่งก็ไม่ได้ตั้งวัตถุประสงค์ว่าคำตอบที่ได้นั้น ต้องเป็นคำตอบที่ถูกที่สุด เพียงแต่หวังว่าอาจเป็นคำตอบที่เป็นทางเลือกอันก่อให้เกิดประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อย
คำถามว่า คำว่า แม่ มีที่มาจากไหน ?

 ตอบว่า เป็นการยากยิ่งนักที่จะหาที่มาของคำว่า แม่ ให้ถึงต้นตอของคำนี้ ด้วยเหตุที่หลักฐานต่าง ๆ อันเป็นต้นกำเนิดของคำนี้ ไม่มีการบันทึกหรือจารึกไว้ มีแต่การสันนิษฐานไปประการต่าง ๆ โดยใช้การเทียบเคียงกับภาษาของชาติอื่น ๆ เป็นหลักบ้าง หรือตั้งสมมติฐานตามความเข้าใจตนเองบ้าง สรุปถ้าจะหาที่มาของคำว่า แม่ คำตอบที่ได้จะเป็นการเดามากกว่าความรู้ที่แท้จริง ซึ่งทุกชาติทุกภาษาที่ใช้คำที่มีความหมายเดียวกับแม่ก็พบคำตอบทำนองนี้เช่นกัน

 คำถามว่า ใครเป็นผู้พูดหรือบัญญัติคำว่า แม่ ใช้เป็นคนแรก ?
 ตอบว่า คงได้คำตอบเดียวกับข้อที่หนึ่ง และยิ่งจะเป็นการเดามากขึ้นไปเสียอีก จะมีใครหลงเหลืออยู่ในยุคปัจจุบันบ้างที่ร่วมรู้ร่วมเห็นการพูดที่ได้พูดหรือบัญญัติคำว่า แม่ เป็นคนแรก นอกเสียจากเวลาที่เราฝึกหัดเด็กตัวน้อย ๆ ที่กำลังจะเริ่มฝึกพูด แล้วเราก็ป้อนคำพูดให้เขาพูดเป็นคำแรกว่า แม่ หรือ พ่อ ซึ่งจะตอบว่า เด็กเป็นคนแรกที่พูดคำว่า แม่ ก็ดูจะเป็นการฟุ้งเฟ้อไปกระมัง เพราะผู้ที่สอนให้เด็กพูดก็เป็นผู้ใหญ่รู้ภาษาเสียแล้ว มิใช่เด็กเป็นคนแรกที่เป็นผู้พูด แต่ครั้นจะตอบว่า ผู้ใหญ่เป็นคนแรกที่พูดหรือบัญญัติคำว่า แม่ ก็กลายเป็นปัญหาไข่กับไก่ขึ้นมาอีก หรืออาจมีคำถามแบบกวนใจว่า แล้วผู้ใหญ่คนไหนมีชื่อเสียงเรียงนามว่ากระไรเป็นคนแรกที่พูดหรือบัญญัติคำนี้ขึ้นมา ยุ่งกันไปใหญ่

ส่วนคำถามว่า ความหมายที่แท้จริงของคำว่า แม่ หมายถึงอะไร ?
ตอบว่า คำถามนี้พอได้ตอบกัน ซึ่งต้องใช้เวลาในการตอบพอสมควร เพราะการที่จะตอบคำถามนี้ให้ถูกมากกว่าผิด ก็ต้องมีหลักฐานอ้างอิงเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ ผู้เขียนขอทำหน้าที่เป็นผู้หาหลักฐานมาอ้างอิงเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ ดังต่อไปนี้
คำว่า "แม่" เป็นคำที่เด็กแรกหัดพูดสามารถพูดได้อย่างง่าย และเป็นคำที่มีความหมายในตัวเอง โดยที่ไม่ต้องอธิบายความหมายอะไรมาก ก็เป็นที่เข้าใจกันเป็นอย่างดี
นักภาษาศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า คำที่มีความหมายเกี่ยวกับ "แม่" ที่มนุษย์เชื้อชาติต่าง ๆ พูดกันนั้นมักขึ้นต้นด้วยพยัญชนะริมฝีปากคู่ (Bilabial) ได้แก่ ม, พ, ป, บ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นพยัญชนะชุดแรกที่เด็กสามารถทำเสียงได้ โดยการใช้ริมฝีปากบนและล่างออกเสียง ยกตัวอย่างเช่น
ภาษาไทย ใช้คำว่า แม่
ภาษาบาลี ใช้คำว่า มาตา
ภาษาสันสกฤต ใช้คำว่า มาตฺฤ
ภาษาจีน ใช้คำว่า ม๊ะ หรือ ม่า
ภาษาฝรั่งเศส ใช้คำว่า (ลา)แมร์ (la mere)
ภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า มอม, มามา, มัธเทอร์ (mom , mama, mother)
ภาษาโซ่ ใช้คำว่า ม๋อเปะ
ภาษามุสลิม ใช้คำว่า มะ
ภาษาเขมร ใช้คำว่า เม เป็นต้น
จากภาษาของชนชาติต่าง ๆ ที่อ้างถึง จะเห็นได้ว่า คำที่เรียกหญิงผู้ให้กำเนิดลูกขึ้นต้นด้วย ม 

1 ความคิดเห็น:

  1. โอ้ว่าแม่ แน่นัก คือรักแท้
    หวังเพียงแค่ ลูกรัก จักเติบใหญ่
    มีชีวิต ลิขิตสร้าง ทางฟ้าไกล
    ลุกสุขกาย แม่สุขใจ ไปนิรันดร์

    ตอบลบ